สอศ. เดินหน้านโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ มุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนควบคู่การมีรายได้ระหว่างเรียน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะพูดคุยกับผู้บริหาร สอศ. ทั่วประเทศ ในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566) โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐถาพิเศษ และ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร สอศ. ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. กล่าวในโอกาสพบปะผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนว่า อยากให้ทุกสถานศึกษามุ่งเน้นไปที่ในเรื่องของการเรียนควบคู่กับการมีรายได้ระหว่างเรียน “Learn to Earn” มั่นใจว่าหากเราทำเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง จริงจัง จะเป็นการพัฒนาการอาชีวศึกษาที่เห็นภาพได้จริง และมีความยั่งยืน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งระบบทวิภาคี การสร้างผู้ประกอบการ การเรียนการสอนหลักสูตรระยะสั้น ดังต่อไปนี้

1. การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี : การที่จะผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ จำเป็นต้องเรียนรู้จริงจากผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชีพนั้น ๆ การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ความสำเร็จในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้น จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา สถานประกอบการ และหน่วยงานส่วนกลาง จำเป็นจะต้องเพิ่มจำนวนสถานประกอบการให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนทวิภาคีให้ได้ถึง 50% โดยผู้เรียนในระบบทวิภาคี ต้องมีทั้งความรู้ สมรรถนะวิชาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ไม่เป็นภาระผู้ปกครอง และยังช่วยเหลือผู้ปกครองได้ด้วย

2. การส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ : สร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพอิสระ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา โดยจัดอบรมการเขียนแผนธุรกิจ ให้ความรู้เบื้องต้นในการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้ด้านการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ ช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเชิญสถานประกอบการ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มาให้ความรู้ และจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในสถานประกอบการ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่ในระบบปกติ นอกเหนือจากระบบทวิภาคี สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้

นอกจากนี้ ได้รับทราบว่า สอศ. มีการพัฒนาศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในสถานศึกษา ให้พร้อมต่อการเป็นศูนย์ฝึกและบ่มเพาะการทำธุรกิจแก่นักเรียน นักศึกษา โดยมีการประเมินความพร้อมของศูนย์ฯ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ ในทุกปีการศึกษา อยากฝากให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน เก็บข้อมูลว่า ที่ผ่านมาเราสามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด ประเมินสิ่งที่ทำเพื่อปรับปรุงงาน รวมทั้งชื่นชมที่ สอศ.ได้จัดอบรมกับสถาบันการศึกษาของจีนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญมาก นับว่าเป็นการดำเนินงานที่ดี

3. หลักสูตรระยะสั้น : วิทยาลัยสารพัดช่างในสังกัดสอศ. มีบทบาทสำคัญมากในการจัดการศึกษาในหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งมีมากกว่า 100 หลักสูตร เป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการมีรายได้ระหว่างเรียน จึงต้องส่งเสริมให้ขยายไปยังวิทยาลัยที่อยู่ในชุมชน เช่น วิทยาลัยการอาชีพ ที่จะสอนอาชีพทั้งในระบบปกติ และระยะสั้น ควบคู่กันไป ซึ่งจะตอบสนองต่อทิศทางการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ด้วย

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ต้องทำหน้าที่สอนนักเรียนในระบบปกติให้มีอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน ตั้งแต่ การศึกษาฝึกอบรม การประกอบอาชีพ การผลิต การแปรรูปผลผลิต บรรจุภัณฑ์ การตลาด สู่การสร้างรายได้หมุนเวียน ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนการสร้างทักษะอาชีพเกษตรยุคใหม่ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ สู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิต ชุมชน สังคม และทันต่อบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมการตลาดสำหรับผลผลิตของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว หรือ ภาคบริการอื่น ตลอดจนการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาดให้กับนักเรียน นักศึกษา พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในภาคการเกษตรทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่า หากทำแบบนี้ได้ เราจะเป็นกลไกหลักในการพัฒนาการเกษตรที่ครบวงจร

ร่วมกันสร้างค่านิยมให้สังคมเข้าใจว่า งานอาชีวะสร้างความมั่นคงในชีวิต เรียนอาชีวะมีรายได้ พร้อมนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ไปสานต่อ อยากให้พวกเราทำงานแบบปิดทองหลังพระ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ตั้งใจทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง รมว.ศธ. และ รมช.ศธ. พร้อมสนับสนุน และดูแลอาชีวะให้รุ่งเรือง ไม่ใช่แค่สร้างงานในประเทศ แต่ไปให้ถึงต่างประเทศ ให้เป็นกำลังคนอาชีวะที่มีความรู้ มีทักษะ ให้พวกเราร่วมกัน จับมือกันไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ. กล่าว

ด้าน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวปาฐถาพิเศษในการประชุมผู้บริหารฯ ว่า ศธ. มีนโยบายเสริมสร้างสถานศึกษาอาชีวศึกษาแห่งความสุข และปลอดภัย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ใน 3 ประเด็น คือ 1) เรื่องยาเสพติด วิทยาลัยได้ผลิตสื่อต่าง ๆ ทั้ง หนังสั้น Tiktok Facebook เพื่อส่งเสริมการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้นักเรียน นักศึกษา เข้าถึงได้ เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ” Anywhere Anytime” 2) เรื่องความรุนแรง ขอให้วิทยาลัยช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา ให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และ 3) เรื่องการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งมีทั้งข้อดี และข้อพึงระวัง ขอให้ครู อาจารย์ คอยดูแลให้คำปรึกษา อาจสร้างนักเรียนแกนนำมาช่วยครูที่ปรึกษา หรือ เพื่อนช่วยเพื่อน ก็จะทำให้ป้องกันปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

“สำหรับประเด็นที่อยากจะฝากกับผู้บริหารทุกท่าน คือ เรื่องกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี การยกระดับฝีมือ up-skill , re-skill และการวิเคราะห์สภาพตลาดแรงงานในอนาคต ขอเน้นว่า อาชีวศึกษาจะต้องเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับผู้ประกอบการได้ ส่วนด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา ต้องเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข และปลอดภัย ให้กับผู้เรียนได้ และขอชื่นชมการดำเนินงานของ ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ที่ได้ดำเนินการจนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน แสดงถึงความสามารถ และศักยภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษา” รมช.ศธ. กล่าว

ทางด้าน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สอศ. ได้นำนโยบายของ ศธ. มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน 8 วาระงาน ดังนี้

1. ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)

2. พัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อลดภาระของผู้เรียน และผู้ปกครอง (Skill Certificate)

3. ยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง

4. พัฒนาระบบการเทียบระดับการศึกษา และคลังหน่วยกิตอาชีวศึกษา (Credit Bank)

5. พัฒนาทักษะทางภาษา เพื่อการศึกษาและทำงาน (Language Skills)

6. สร้างช่างชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพเสริม (1 วิทยาลัย 1 ศูนย์ช่างชุมชน)

7. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคล และการบริหารจัดการ

8. เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ ตามแนวทางการทำงานของ สอศ. มุ่งสานงานต่อ ก่อเริ่มงานใหม่ ด้วยหัวใจเดียวกัน “OVEC ONE Team”

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!