นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยี ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มาตรฐานการศึกษา ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ
โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษาครั้งที่ 9/2566 คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีมติเห็นชอบประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ จำนวน 1 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ จำนวน 3 ฉบับ โดยการปรับปรุงประกาศฯดังกล่าว มีสาระสำคัญ ได้แก่ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และมาตรฐานการอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้เข้าเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ในแต่ละระดับเข้ารับการศึกษาได้ โดยมีเงื่อนไขผู้เรียนต้องมีวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์ก่อนสำเร็จการศึกษา ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ ให้มีรูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ เทียบโอนประสบการณ์ของบุคคล และการเทียบโอนสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มและสื่อการเรียนรู้ ระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา (Credit Bank) และกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำผลที่ได้จากการผ่านการทดสอบมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพขององค์กรรับรองในประเทศหรือสากล มาเทียบเคียง การประเมินมาตรฐานวิชาชีพเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการเข้ารับการประเมิน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า ด้านโครงสร้างหลักสูตร มีการปรับลดจำนวน หน่วยกิตหมวดวิชาสมรรถนะแกนกลาง เพิ่มจำนวนหน่วยกิตหมวดวิชาสมรรถนะวิชาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนและฝึกปฏิบัติในรายวิชาชีพมากขึ้น ปรับเปลี่ยนกลุ่มวิชาในหมวดสมรรถนะแกนกลางให้สะดวกต่อการบูรณาการรายวิชา และเพิ่มการกำหนดชั่วโมงรวมต่อภาคเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปรับลดระยะเวลาการจัดการศึกษาจากเดิม 18 สัปดาห์ต่อภาคเรียน เป็นไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ต่อภาคเรียน และให้มีการเทียบเคียงระยะเวลากับระบบทวิภาค สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพิ่มโครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง) เพื่อรองรับการพัฒนาสมรรถนะกำลังคนระดับเทคนิค มุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ในระดับปริญญาตรีปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตร และปรับลดระยะเวลาการจัดการศึกษาจากเดิม 18 สัปดาห์ต่อภาคเรียน เป็นไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ต่อภาคเรียน ให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี เพิ่มโครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (4 ปี) ตามมาตรฐานการอุดมศึกษา โดยรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เข้าศึกษาต่อเนื่องจากมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเข้ารับการศึกษา โดยไม่ต้องปรับพื้นฐานวิชาชีพ และเพื่อความยืดหยุ่นใน การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการตามบริบทเชิงพื้นที่ ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรโดยกระจายอำนาจในการพัฒนาหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ สู่สถาบันการอาชีวศึกษาและสถานศึกษา และหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ และพัฒนาหลักสูตรที่มีความจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้ภาคประกอบการ องค์กรวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษามากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างเข้มข้น โดยการดำเนินการต่อจากนี้ สอศ.จะดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร และการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาต่อไป