สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน และหากเราย้อนไปดูสถิติหลังจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา จะพบว่า หลาย ๆ ประเทศมีตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดย 5 อันดับแรกของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ “โรคหนองใน” (Gonorrhea) ที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่หนึ่ง
“ GoCheck” (โกเช็ค) ดีเอ็นเอชิพอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจวัดสารพันธุกรรมโรคหนองในแท้แบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที คือ นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้น โดย ดร.อับดุลฮาดี ยะโก๊ะ และ ดร.สุดเขต ไชโย จาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อแก้ปัญหา หรือ pain point ของการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้โดยเฉพาะ จนได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2567
“โปรเจกต์นี้เริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด เราเคยได้มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับคุณหมอที่ดูแลศูนย์กามโรคที่บางรัก และพบปัญหาเรื่องการขาดแคลนเครื่องมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เดิมเครื่องมือที่ใช้ตรวจจะมีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และใช้เวลานานในการตรวจ ค่อนข้างที่จะเข้าถึงได้ยาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมนี้ครับ” ดร.อับดุลฮาดี กล่าวถึงที่มาของงานนวัตกรรม
ทีมวิจัยได้พัฒนาในส่วนของวิธีการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า โดยเลือกใช้ตัวตรวจวัดชนิด DNA Bio-sensor สำหรับใช้ตรวจวัดสารพันธุกรรมชีวภาพโดยเฉพาะ หลักการ คือ ใช้ดีเอ็นเอที่มีความสามารถในการตรวจจับ มาจับกับดีเอ็นเอของโรคหนองในแท้ที่มีความจำเพาะกัน ร่วมกับ วิธีการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ คือ ใช้ อิเลกทรอนิกส์ชิพ ที่มีลักษณะเป็นแผ่นการ์ดขนาดเล็ก นอกจากนี้ ในส่วนของวิธีการตรวจวัด ทางทีมได้พัฒนากระบวนการให้มีการขยายสัญญาณการตรวจที่กว้างขึ้น และเมื่อขยายสัญญาณได้ดีในระดับหนึ่ง จะช่วยลดระยะเวลาการตรวจวัดลง ด้วยวิธีการขยายสัญญาณ จึงสามารถลดเวลามาได้เหลือเพียง 15 นาที เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้
สำหรับ วิธีการตรวจวัด จะใช้สารดีเอ็นเอ (ตัวอย่างปัสสาวะ) หยดลงไปบริเวณแผงอุปกรณ์ตรวจวัด แล้วเติมน้ำยาลงไปให้ทำปฏิกิริยาภายใน 15 นาที ก่อนนำแผงตรวจไปเสียบเข้ากับตัวดีเอ็นเอชิพ ดร.อับดุลฮาดี อธิบายว่า การทำงานก็จะคล้าย ๆ กับ ชุดตรวจน้ำตาล และใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวติดตาม โดยใช้ลิงก์ NFC เปลี่ยนแปลงสัญญาณที่เกิดขึ้น หากพบ หรือ ไม่พบดีเอ็นเอของโรคหนองในแท้ ก็จะสามารถทราบและติดตามผลได้ทันทีจากสมาร์ทโฟน
“ส่วนตัวรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ทาง วช. เห็นคุณค่าและความสำคัญของงานวิจัยที่ทำอยู่ ปัจจุบัน GoCheck อยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และตัวชิ้นงานเองยังต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น รวมถึงขยาย know how ที่มีไปยังโรคอื่น ๆ คือ ถ้าเราทราบลำดับที่แน่นอนของสารพันธุกรรมของโรค เราก็สามารถออกแบบ DNA ที่จำเพาะกับสารพันธุกรรมที่ต้องการจะตรวจวัดได้ อย่างเช่น ตอนนี้เรากำลังโฟกัสอยู่ ก็คือ โรคฝีดาษลิง ซึ่งกำลังระบาด และค่อนข้างน่าเป็นห่วง” ดร.อับดุลฮาดี กล่าวทิ้งท้าย