เปิดผล PISA 2022 หลังวิกฤตโควิด 19 ระบบการศึกษาทั่วโลกคะแนนเฉลี่ยลด สสวท. ชี้ เร่งพัฒนาสมรรถนะครูจัดการเรียนรู้ สร้างทักษะที่จำเป็น

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2022 พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ริเริ่มโดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพ หรือ ความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา และมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมิน ซึ่งความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมี เพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับ PISA 2022 เน้นการประเมินด้านคณิตศาสตร์ โดย PISA มองว่า ในปัจจุบันบุคคลที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่  ่ซับซ้อน ร่วมกับ การหาวิธีแก้ปัญหาโดยการคิด หรือ แปลงปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์ ใช้คณิตศาสตร์ และตีความประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ได้

การประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

ผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ

ผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ และการอ่าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนน
สูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์ และการอ่าน ลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ

ผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย

ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และ ด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทย ตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ และการอ่าน มีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ

เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษา และกลุ่มโรงเรียน ที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง (มีคะแนนตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ขึ้นไป) กับ นักเรียนกลุ่มต่ำ (มีคะแนนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของประเทศไทยในทั้งสามด้าน พบว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านแตกต่างกันประมาณ 200 คะแนน และเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ความแตกต่างของคะแนนด้านการอ่าน และด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนที่แคบลง เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยลดลงมากกว่าของนักเรียนกลุ่มต่ำ

สำหรับนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มช้างเผือกอยู่ 15% ในขณะที่ ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% จากข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้

นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้าน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ ผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 32% ในขณะที่ ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 69% ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และ เอสโตเนีย พบว่า มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สำหรับด้านวิทยาศาสตร์ และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 47% และ 35% ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถ ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 76% และ 74% ตามลำดับ

ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับระบบการศึกษาไทย ยังมีช่องว่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง กับ นักเรียนกลุ่มต่ำที่กว้างมาก แม้ในด้านคณิตศาสตร์จะมีช่องว่างดังกล่าวที่แคบลง เป็นผลมาจากนักเรียนกลุ่มสูง มีการลดลงของคะแนนที่มากกว่านักเรียนกลุ่มต่ำ ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพ และครอบคลุมทุกสังกัด

RANDOM

สํานักงานประกันสังคม ชวนเยาวชนโชว์ไอเดียสร้างสรรค์ ประกวดคลิปวิดีโอ ในหัวข้อ “เจ็บป่วยประกันสังคมช่วยดูแล” และ หัวข้อ “อุ่นใจวัยเกษียณ” ชิงทุนการศึกษารวม 230,000 บาท รับสมัครถึง 31 พ.ค. 66

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!