DPU ผนึก IRC ร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ดันยางรถจักรยานยนต์ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เตรียมตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา-รับรองด้านก๊าซเรือนกระจก พร้อมให้คำปรึกษาฟรี! ในปี 67

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จับมือ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ในโครงการการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้และประสบการณ์ในกระบวนการกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมสัจจา 1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เมื่อเร็ว ๆ นี้

ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ และ รองอธิการบดี สายงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า DPU กับ IRC มีเจตจำนงในการร่วมมือกันพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การขอรับรองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับผลิตภัณฑ์ยางรถจักรยานยนต์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย การ MOU ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศว่า ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 จากปฏิญญาที่รัฐบาลให้ไว้กับนานาประเทศในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ทำให้ทุกองค์กรรวมถึง DPU ตระหนักถึงความสำคัญและได้ขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว

สำหรับ DPU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนโยบาย Decarbonization ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กร โดยมี Sustainability อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรมส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การลดใช้พลังงานต่าง ๆ ของบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงบุคลากรภายนอกที่มาใช้สถานที่ของ DPU และในปี 2567 มีแผนจะจัดตั้งศูนย์ Hub of Net Zero หน่วยงานให้คำปรึกษาและรับรองด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์สินค้า รวมทั้งการส่งเสริมแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างหน่วยงาน ให้กับผู้สนใจทั่วไป

ด้าน นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC กล่าวเพิ่มเติมว่า วิสัยทัศน์และแนวทางการปฏิบัติงานของ IRC คือ การเป็นองค์กรที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ภายในปี 2050 ซึ่งที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีนโยบายลดโลกร้อนด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเริ่มดำเนินการทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทั้ง Scope I และ Scope II ตั้งแต่ ปี 2022-2024 สำหรับ Scope III เป็นเรื่องเกี่ยวกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ หรือ เน้นทำกับ Supply Chain เช่น วัตถุดิบตั้งต้นที่ซื้อมา การขนส่งจากผู้ผลิตวัตถุดิบ การเดินทางของลูกค้าและผู้มาติดต่อ เป็นต้น ความร่วมมือระหว่าง IRC กับ DPU ครั้งนี้ จะมีการศึกษาเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ คาร์บอนเครดิต พร้อมทำการประเมิน Scope III ร่วมกัน เพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายสู่การเป็น Net Zero ต่อไป

ขณะที่ รศ.ดร.นิตย์ เพ็ชรรักษ์ นักวิจัยอาวุโส DPU กล่าวเสริมว่า การคำนึงถึงเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศในฝั่งยุโรปที่มีการบังคับใช้กฎหมายด้านภาษีสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทต่าง ๆ มีการตั้งเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า โดยพิจารณาซื้อสินค้าจาก Supplier ที่ปฏิบัติตามหลักการลดโลกร้อน และมีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น องค์กร หรือ บริษัทที่มีรายงานการวัดและประเมินเรื่องคาร์บอนจะได้เปรียบทางการค้ามากกว่าบริษัทอื่น อนาคตการแข่งขันทางธุรกิจจะยากขึ้น ทุกบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศจะต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมบริหารธุรกิจและการบัญชี (CIBA) DPU กล่าวต่อว่า สำหรับความร่วมมือ ระหว่าง DPU และ IRC ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่เน้นด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยบริษัท IRC เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่ผ่านมา IRC ได้ดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระดับองค์กรแล้ว จึงมีความสนใจที่จะทำในระดับผลิตภัณฑ์ด้วย โดยในเบื้องต้นจะร่วมกันประเมินผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยางประเภทต่าง ๆ โดยประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ การขนส่งรับวัตถุดิบ นำมาผลิตจนถึงฝังกลบ ผลของการประเมินปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปจัดเก็บในฐานข้อมูล ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อแสดงรายละเอียดต่าง ๆ และใช้เป็นมาตรฐานการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ประเภทยางรถจักรยานยนต์ ต่อไป

“การไปถึงเป้าหมาย Net Zero ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน บริษัทขนาดเล็ก หรือ SME อาจต้องเริ่มตระหนักถึงเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะในอนาคตจะมีตัวกฎหมายออกมาบังคับใช้ในการประเมินคาร์บอน ตลอดห่วงโซ่ของ Supply Chain ซึ่งมีผลกับธุรกิจและการคำนวณภาษี และมีผลต่อการค้าและธุรกิจโดยเฉพาะกับต่างประเทศที่มีข้อกำหนดเรื่องคาร์บอนเครดิต อย่างไรก็ตาม บริษัท SME หรือ ผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้ารับการปรึกษาอบรมเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ คาร์บอนเครดิต DPU มีศูนย์ให้คำปรึกษาฟรี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัย DPU RDI https://www.dpu.ac.th/dpurdi/ ดร. รชฏ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

มูลนิธิบัญชา-สุรัติ ภาณุประภา ให้ทุนการศึกษา ประจำปี 2567 แก่นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี สนใจสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 30 เมษายน 2567

โค้งสุดท้าย…ประกวดออกแบบอาคารรักษ์โลกระดับประเทศ The NOVA Stage of Designers Award ปี 2 หัวข้อ แปลงโฉมอาคารให้เป็น Senior Living Building ภายใต้แนวคิด Green Innovation Revolution ชิงุทนการศึกษารวมกว่า 230,000 บาท หมดเขตสมัคร 15 พ.ย. นี้

วิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เปิดรับสมัครคัดเลือก “นักทรัพยากรบุคคล – อาจารย์” ทั้งนี้ ตำแหน่ง นักทรัพยากรบุคคล หมดเขตรับสมัคร 11 มิถุนายน 2567 และ ตำแหน่ง อาจารย์ หมดเขตรับสมัคร 30 สิงหาคม 2567

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!