นักศึกษาวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เลี้ยงปูดำระบบน้ำธรรมชาติหมุนเวียน ได้ปูคุณภาพดี เนื้อแน่น หวาน สะอาด ไร้กลิ่นโคลน ตลาดมีความต้องการสูง คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงการอาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ ประจำปี 2566 หรือ RRR Award 2023
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ทีมธุรกิจปูดำ ขยำเงิน ของ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เป็นธุรกิจการเลี้ยงปูดำในระบบน้ำธรรมชาติจากทะเลสาบสงขลาแบบหมุนเวียน ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงการอาชีวะสร้างสรรค์ แปรฝันสู่ธุรกิจ ประจำปี พ.ศ. 2566 หรือ RRR Award 2023 สมาชิกในทีม ประกอบด้วย นักศึกษาชั้นปวช. 3 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ 1. นางสาวสาธินี จิตต์หมั่น 2. นายราเชนทร์ อะหมัด และ 3. นายภวัต เจียมคลัง ทั้งนี้ โครงการ RRR Award จัดขึ้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีองค์ความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการเชิงลึก สามารถต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ สู่การสร้างรายได้และเป็นผู้ประกอบการอาชีวศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21
นายภวัต เจียมคลัง นักศึกษาระดับชั้น ปวช. 3 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ หนึ่งในสมาชิกของทีม เล่าว่า ปูทะล หรือที่เรียกกันว่า ปูดำ ประกอบด้วย สารอาหารและวิตามินต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อีกทั้งยังนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด และเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เราได้รับซื้อปูที่ไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ นำมาเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน ควบคุมคุณภาพน้ำ ซึ่งน้ำที่ไหลออกจากบ่อเลี้ยงจะถูกนำไปบำบัดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นอีกระบบหนึ่งที่สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปูดำได้ เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ มีการตกตะกอน และการบำบัด ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการเลี้ยงปู ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เช่น การลอกคราบ การกินอาหาร นอกจากนี้ ยังมีการนำเศษเหลือใช้ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในนวัตกรรม เช่น Bio Ball หรือ ฝาขวด เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้แบคทีเรียสำหรับการย่อยสลายสารอินทรีย์ เปลือกหอยนางรม ช่วยในการรักษาค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ให้ค่าความเป็นด่างไม่เปลี่ยนแปลงมาก ตลอดจน สาหร่ายผมนาง และ สาหร่ายพวงองุ่น ก็เป็นการรักษาคุณภาพน้ำด้วย
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงปูดำในระบบน้ำหมุนเวียน เริ่มจาก 1. เตรียมวัสดุอุปกรณ์และโรงเรือนเลี้ยงปูดำ 2. นำปูดำใส่ในตะกร้าเลี้ยงปู ตะกร้าละ 1 ตัว 3. ให้อาหารปูดำ ซึ่งอาหารที่ใช้ คือ ปลาสด ขนาด 1 นิ้ว ให้ตะกร้าละ 1 ชิ้น วันละ 1 มื้อ ในช่วงเย็น 4. ตรวจสอบการลอกคราบของปู 5. ตรวจสอบคุณภาพน้ำ 6. ตรวจสอบขนาดและน้ำหนักเพื่อจำหน่าย 7. จัดการผลผลิตและการจำหน่าย ซึ่งการเลี้ยงปูในระบบนี้ ทำให้ได้ปูที่มีคุณภาพ เนื้อแน่น หวาน ไร้กลิ่นโคลน และสะอาด เพราะใช้น้ำธรรมชาติจากทะเลสาบสงขลา โดยปูดำในระบบน้ำธรรมชาติหมุนเวียน ราคาเริ่มต้นกิโลกรัมละ 450 บาท ราคาขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล สามารถจัดส่งได้ทั่วประเทศ ท่านใดสนใจเรียนรู้หรือต้องการศึกษาเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา โทร 074-333-202 หรือ โทร. 084-241-4819 ครูเอมอร