โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วในสุนัข (Mitral Valve Regurgitation) หรือ โรคลิ้นหัวใจไมตรัลเสื่อมในสุนัข (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคหัวใจที่พบได้มากที่สุด ราว 70 – 80 % ส่วนใหญ่ พบในสุนัขที่มีอายุมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุนัขพันธุ์ขนาดเล็กและกลาง ซึ่งรักษาโดยการใช้ยาเป็นการรักษาหลัก
ความก้าวหน้าในการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขพัฒนาไปอีกขั้น โดยอาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา ร่วมกับ ทีมสัตวแพทย์อีก 6 ท่าน จาก โรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และ โรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท ประสบความสำเร็จในการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว โดยการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัดเป็นเคสแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 และ เคสที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งวิธีการผ่าตัดดังกล่าว จะทำให้มีแผลขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำให้สุนัขฟื้นตัวเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ หัวใจสุนัขจะปรับสภาพใหม่ และช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต การรักษาด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ Mitral clamp นี้มีการทำในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มจากการนำมาใช้ผ่าตัดในคน และใช้ในสัตว์ในเวลาต่อมา โดยในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่มีการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน
รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ กิจถาวรรัตน์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลอง จุฬาฯ เปิดเผยว่า โรคลิ้นหัวใจรั่วในสุนัขพบเพิ่มขึ้นตามอายุของสุนัขที่มากขึ้น โรคนี้แบ่งออกเป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ และระยะที่แสดงอาการแล้ว สุนัขที่ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ไอ หอบ จนถึงระยะรุนแรง คือ น้ำท่วมปอด หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต สุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วจะทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายขึ้นไปหัวใจห้องบนซ้าย หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะเลือดไหลย้อนกลับไปที่ปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอดได้ วิธีการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp ผ่านการผ่าตัดสามารถทำได้ในสุนัขพันธุ์ที่มีความชุกของโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง เช่น ปอมเมอเรเนียน ชิสุ ชิวาวา ฯลฯ ในการผ่าตัดเปิดที่ช่องอกสุนัขต้องใช้ทีมงานฝ่ายต่าง ๆ ในการทำงานประสานกัน ผลการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp จะช่วยชะลออาการหัวใจโต และหัวใจล้มเหลว ทำให้สุนัขมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
เจ้าของสุนัขที่สนใจจะนำสุนัขที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่วมารักษาด้วยวิธีการซ่อมลิ้นหัวใจด้วยตัวหนีบลิ้นหัวใจ mitral clamp สามารถนำสุนัขมาตรวจว่า ผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการนี้ได้หรือไม่ ติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 02-218-9751, 02-218-9715 หรือที่ โรงพยาบาลสัตว์มอนสเตอร์แคร์ โรงพยาบาลสัตว์โมทิเว็ท และ โรงพยาบาลสัตว์บางกอกฮาร์ท
รศ.น.สพ.ดร.อนุศักดิ์ ฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลและสังเกตอาการสุนัขที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งโรคหัวใจ หากพบอาการในเบื้องต้น เช่น สุนัขเหนื่อยง่ายผิดปกติ มีอาการไอ ถ้าตรวจเจอในระยะต้นก่อนที่จะมีอาการน้ำท่วมปอด สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งการให้ยา หรือ จะใช้วิธีการผ่าตัดก็ได้