สอศ. ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล และ บริษัทในเครือ ขับเคลื่อน ‘วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น’ ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnaeship School Project) ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnaeship School Project) วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล และ ผู้แทนบริษัทในเครือ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เรียล โซลูพลัส จำกัด บริษัท พาวเวอร์ อโกรเทค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารและข้าราชการ สอศ.ส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตนได้ให้แนวทางในการขับเคลื่อนโครงการ โดยให้สถานศึกษาระดมสมองคิดดำเนินการให้เป็นระบบ โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นตัวตั้ง แล้วจึงร่วมกันพิจารณาออกแบบหลักสูตร จากนั้นจึงคิดวิเคราะห์จัดสรรงบประมาณ สำหรับการพัฒนาครู ต้องกำหนดสมรรถนะครูก่อน แล้วจึงจัดส่งครูไปอบรม หรือ ให้ครูในสถานประกอบการเข้ามาช่วยสอน โดยศึกษานิเทศก์ และ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา จะต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาครูผู้สอน และให้สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สนับสนุนในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งกำหนดแผน agenda 3 ปี โดยแต่ละปี จะต้องมีวาระเร่งด่วน(Quick win) ที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จ นอกจากนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ควรเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องถิ่นได้เข้ามาเรียน เพื่อเป็นกลยุทธ์ใการประชาสัมพันธ์วิทยาลัยควบคู่ไปด้วยทางหนึ่ง ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ตั้งเป้าใน ปีการศึกษา 2569 จะเปิดสอนหลักสูตร ปวส.ทวิวุฒิ ไทย-จีน (2+1) กับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคไฟฟ้ากว่างซี สาขาเทคนิคพลังงาน โดยจะทำการเรียนการสอนที่ไทย 2 ปี และ เดินทางไปศึกษาต่อที่จีนอีก 1 ปี
“การดำเนินการทุกอย่าง ขอให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ คอยตรวจสอบว่า สิ่งใดได้ดำเนินการไปแล้ว สิ่งใดยังไม่ได้ดำเนินการ และที่สำคัญ ควรมีการเชื่อมโยงและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการฯในทุก 2 เดือน (เดือนเว้นเดือน) โดยการประชุมครั้งต่อไป จะจัดในเดือนพฤษภาคม 2567” รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวทิ้งท้าย
โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เกิดจากแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม การบริหารจัดการสถานศึกษา แบบมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษา กับ บริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือ สถาบัน โดยมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกมิติ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ประกาศจัดตั้ง วิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 โดยความร่วมมือกับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ บริษัทในเครือ เพื่อเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาสในการเรียน และสามารถสร้างอาชีพ เพื่อการมีงานทำในท้องถิ่น ตลอดจนเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาสายอาชีพได้มากขึ้น ทั้งในระบบปกติ และระบบทวิภาคี และยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อการมีงานทำในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการสร้างและพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีคุณภาพในการประกอบอาชีพตามนโยบายของรัฐบาล