สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) เดินหน้าโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟให้อาคารต่าง ๆ ของ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าของอาคารสำนักงานทั้งหมด ช่วยรัฐประหยัดค่าไฟ ปีละ 1.78 ล้านบาท รวมตลอดโครงการประหยัดไฟได้ประมาณ 21 ล้านบาท และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปีละกว่า 500 ตัน เทียบเท่า ปลูกต้นไม้ปีละ 295 ต้น
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง ร่วมลงนามในสัญญาให้บริการโครงการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือก ในพื้นที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย ที่ผ่านมา
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ ขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐด้านพลังงานหมุนเวียน พร้อมให้ความร่วมมือทุกภาคส่วนส่งเสริมดำเนินตามนโยบายภาครัฐ โดย MEA มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้บริการการติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 911.90 kWp ช่วยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลประมาณ 1,180.93 MWh/ปี และ ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 1.78 ล้านบาท/ปี คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ประมาณ 519.73 tonCo2/ปี เทียบเท่ากับ การปลูกต้นสักประมาณ 295.30 ต้น/ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นไปตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ
ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวต่อว่า สถาบันฯ ได้รับนโยบายรัฐบาลที่ให้หน่วยงานราชการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการใช้ไฟฟ้า กอปรกับ การไฟฟ้านครหลวง มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบการใช้พลังงานทดแทน จึงนำมาสู่การลงนามร่วมสัญญาการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ขนาด 911.90 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ในพื้นที่อาคารสิรินธรวิชโชทัย และ อาคารปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งจะให้พลังงานไฟฟ้าครอบคลุมการใช้งานของอาคารสำนักงานทั้งหมด
โครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นโอกาสดีของสถาบัน ฯ ที่จะได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักสากล ซึ่งส่งผลให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และที่สำคัญ จะเป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และ กระทรวง อว. เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และยังสอดคล้องกับนโยบายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ บรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่ง โครงการฯ นี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยมุ่งเน้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ในด้าน Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ลดภาวะโลกร้อน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่อทั้งสถาบัน ฯ สังคม ประชาชน และ โลกของเรา
สำหรับผู้สนใจจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ของ MEA สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center โทร. 1130