นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบนโยบายการจัดทำหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ โดยมี นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เมื่อเร็ว ๆ นี้
นายธนากร ดอนเหนือ กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานของผลผลิตที่มาจากการฝึกอาชีพ นอกจากจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ยังเป็นการยกระดับด้านการศึกษาอาชีพ เพื่อการมีงานทำได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือว่าเป็นการเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ก็คือ หลักสูตร เพราะเมื่อใครที่เดินเข้ามาที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ถ้าคุณมาผ่านกระบวนการหลักสูตรแล้ว คุณจะได้ทักษะ โดยเฉพาะเรื่องทักษะอาชีพ มันเป็นเรื่องสำคัญทำให้มองมิติว่า ถ้าเราทำหลักสูตรได้มาตรฐาน กระบวนการเรียนรู้เราได้มาตรฐาน ผลผลิตเราก็มีคุณภาพ ใคร ๆ ก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่เป็นผู้เรียน หรือ ผลิตภัณฑ์ และการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยเน้นไปที่สร้างและพัฒนาครูและกลุ่มเป้าหมายให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจจากหลักสูตรในการนำไปประยุกต์ใช้ และขยายผลการจัดการเรียนรู้ให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์คุณภาพ เป็นกระบวนการที่สะท้อนถึงทิศทางการนำไปสู่มาตรฐานของผลผลิต การพัฒนาหลักสูตรจึงต้องพัฒนาผู้เรียนไปสู่โลกแห่งอนาคต สอดรับกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ซึ่งเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมวัฒนธรรม และวิถีการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ และการเมือง ดังนั้น หลักสูตรที่ดีจะต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เตรียมผู้เรียนไปสู่โลกอนาคต ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับสู่การพัฒนาศักยภาพนั้น ควรให้ความสำคัญกับความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะกระบวนการคิด เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา การคิดวิจารณญาณ และทักษะทางสังคม เช่น การมีส่วนร่วม และแสวงหาเครือข่ายที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนไปพร้อม ๆ กัน
ด้าน นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ ถือเป็นการพลิกโฉมการจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง ด้านการประกอบอาชีพ และพัฒนาอาชีพ เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เคยผ่านการฝึกและพัฒนาอาชีพ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้มีมาตรฐาน มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ ผ่านการนำวัตถุดิบ ทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาต่าง ๆ ของชุมชนมาออกแบบ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ตอบโจทย์ต่อนโยบายรัฐบาลที่หนุนเสริมเรื่องของพลังสร้างสรรค์ (soft power) มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ด้านการแพทย์และสุขภาพ รวมถึง ด้านอาหาร และต้องการให้ทุกจังหวัดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น โจทย์สำคัญของการจัดทำหลักสูตรฯ ให้มีประสิทธิภาพ คือ ต้องคำนึงถึงประเด็นความต้องการของการพัฒนากลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับจังหวัด เป็นหลักว่า ต้องการพัฒนาเรื่องใด การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ศึกษาแนวโน้มความต้องการของตลาด ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การเขียนแผนธุรกิจ การสร้างและเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม การพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ การเข้าสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ผ่านการบูรณาการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ชำนาญการตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตามลำดับ
ทางด้าน นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักสูตรนี้ เราจัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคน มากกว่าตัวสินค้า เพราะเชื่อว่า “คน” คือ สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงตั้งใจเดินงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคน พัฒนางาน อย่างมีทิศทาง เราจึงไม่ได้เริ่มต้นพัฒนางานจากศูนย์ แต่มีสารตั้งต้นในชุมชนที่รอการถูกหยิบมาเจียรนัย และพัฒนาให้ดี ให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น กระบวนการครั้งนี้เราจึงจัดทำหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการในการเติมเต็มของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเตรียมเข้าสู่ภาคการตลาดได้อย่างมีคุณภาพ จากผลผลิตที่เกิดจากการส่งเสริมของ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการฝึกอบรม บ่มเพาะ ซึ่งการจัดทำหลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ยังไม่เคยทำในโครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์ของหน่วยงานใด ดังนั้น หลักสูตรนี้ไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องของความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์เพียงเท่านั้น แต่บุคลากรในสังกัดและกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการคัดเลือก จะได้พัฒนาทักษะความรู้ ความเข้าใจถึงสาระสำคัญต่าง ๆ ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง สามารถนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปวิเคราะห์ วางแผน และขยายผลการจัดการเรียนรู้ให้กับประชาชนในชุมชนได้ เกิดการกระตุ้น สร้างทักษะการคิดและพัฒนาต่อยอดในการสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนถึงบริบทชุมชน โดยยึดหลักที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนาเรียนรู้ (Area-Based Development) ซึ่งการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว สอดคล้องกับการตอบโจทย์ข้อสังเกตการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนอีกด้วย
ขณะที่ นายศรศิลป์ โสภณสกุลวงศ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงธัญบุรี กล่าวว่า ในการออกแบบหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์และตีโจทย์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับจังหวัดให้แตก ศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระยะเวลาดำเนินการ มีการติดตาม ประเมินผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างภาคีเครือข่ายในชุมชนเพื่อผนึกกำลังในการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยน คือ การสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ให้กับบุคลากร ว่าตนเองสามารถพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถผ่านการเรียนรู้ และฝึกฝนได้สม่ำเสมอ รู้ในสิ่งที่ถูกต้อง สนุกที่จะเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด มุ่งสร้างชุมชนเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป