วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงาน “สานสัมพันธ์พันธมิตรสถานประกอบการ CWIE” ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อแสดงความขอบคุณและยกย่องสถานประกอบการที่ให้โอกาสแก่นักศึกษาในการฝึกงาน และได้รับประสบการณ์จริงจากการทำงาน ภายในงานมีการมอบโล่ที่ระลึกให้แก่ 50 สถานประกอบการต้นแบบ CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) พร้อมกันนี้ มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ CWIE ,โครงการ Fast Track Program รวมถึงการแนะนำหลักสูตรการบัญชีของวิทยาลัย CIBA ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน สำหรับงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากสถานประกอบการชั้นนำในสายวิชาชีพการบัญชีกว่า 70 แห่ง เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ดร. รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (CWIE) มีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของสถานประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกนักศึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบทการทำงาน รวมถึงการจัดการอบรมพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก่อนฝึกงาน ซึ่งแนวทางนี้ช่วยลดปัญหาช่วงรอยต่อและระยะเวลาการปรับตัวของนักศึกษาเมื่อเข้าสู่การทำงาน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้เนื้อหาทันสมัย ตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจปัจจุบัน
ด้าน ดร. อรัญญา นาคหล่อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชีและอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชียุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) กล่าวว่า นักศึกษาภายใต้โครงการ CWIE มีจุดเด่นเรื่องความพร้อมในด้านความรู้และทักษะทางเทคโนโลยี รวมถึงความเข้าใจในด้าน Data Flow ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานจริงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีโครงการ Fast Track Program ที่ให้นักศึกษาเรียนภาคทฤษฎี 2 ปี และฝึกงานภาคปฏิบัติ 1 ปี เพื่อให้ได้ประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในการได้รับนักศึกษาที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญสามารถปฏิบัติงานได้อย่างอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนักศึกษา Fast Track ยังมีโอกาสสูงในการได้รับการจ้างงานหลังจบการศึกษา อย่างไรก็ตาม โครงการ CWIE ยังให้ความสำคัญกับการช่วยนักศึกษาค้นหาและวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ซึ่งช่วยให้นักศึกษามีมุมมองในการเลือกสายอาชีพที่ชัดเจนขึ้น การที่นักศึกษาได้ทำงานตรงกับสายงานที่มีความต้องการ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบุคลากรมืออาชีพและมีคุณภาพในอนาคต
ทางด้าน นายวัฒนา จันทร์นาคิน ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน บริษัท ไอ.เอ.พี.อินเทอร์นอล ออดิท จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความร่วมมือกับ CIBA DPU มานานกว่า 7 ปีแล้ว ซึ่งบริษัทได้รับประโยชน์อย่างมากจากโครงการนี้ เพราะสามารถวางแผนในการรับนักศึกษาเพื่อมาฝึกปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบภายในขององค์กร ซึ่งยังเป็นงานที่ไม่แพร่หลายมากนัก โดยนักศึกษาจะได้สร้างประสบการณ์จริงในการทำงานสายงานดังกล่าว ทำให้ได้เห็นถึงความน่าสนใจ โอกาสในการเจริญก้าวหน้าของสายอาชีพนี้ และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษา จะมีโอกาสในการเลือกหรือตัดสินใจอย่างมีข้อมูลรอบด้านว่าจะประกอบอาชีพในสายงานตรวจสอบภายในหรือไม่ ทั้งนี้ ในการรับสมัครนักศึกษาฝึกงาน บริษัทให้ความสำคัญกับคุณสมบัติและความสนใจของผู้สมัครเป็นหลัก ในส่วนของนักศึกษาจาก CIBA เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่เราต้องการ มีจุดเด่นทั้งในด้านความรู้ทางวิชาการและทักษะด้านเทคโนโลยี มีศักยภาพและมีความพร้อมในการปฏิบัติงานจริง ดังนั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เราจึงเปิดโอกาสการจ้างงานให้นักศึกษากลุ่มนี้ โดยปรับลดขั้นตอนการคัดเลือกบางส่วน พร้อมนับอายุงานตั้งแต่วันแรกของการฝึกงาน และให้สิทธิประโยชน์บางประการด้วย
“ปัจจุบันเทคโนโลยี AI มีบทบาทสำคัญในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะ Generative AI นักบัญชีสามารถนำมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับงานบัญชีและธุรกิจอื่น ๆ ได้ AI จะช่วยอำนวยความสะดวกในการสืบค้น วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูล และยังไม่ได้มาทดแทนนักบัญชีที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ ดังนั้น นักบัญชีจึงต้องพัฒนาตนเองให้เท่าทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ สำหรับนักศึกษาที่สามารถนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษในการฝึกงานหรือรับเข้าทำงานจากบริษัท” นายวัฒนา กล่าว
ขณะที่ นางสาวสงกรานต์ ยังน้อย กรรมการผู้จัดการบริษัทสำนักงานทองทวีการบัญชีและกฎหมาย กล่าวว่า ได้เข้าร่วมในโครงการ CWIE เป็นปีที่ 3 แล้ว และมีการรับนักศึกษาฝึกงานจากโครงการนี้หลายรุ่น ซึ่งนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานส่วนใหญ่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำของบริษัท ทั้งนี้ ขอชื่นชมความสามารถของนักศึกษาฝึกงานจาก CIBA ในรุ่นปี 2565 เป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทได้รับงานด้านการวางระบบสำหรับโรงแรมและสำนักงานเอง ซึ่งนักศึกษาฝึกงานสามารถนำเสนองานในที่ประชุมและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความสามารถในการเขียน Data Flow ได้ในระดับเทียบเท่ากับพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงาน 3 ปี จึงถือได้ว่า นักศึกษามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ในระหว่างการปฏิบัติงาน ยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากนักศึกษาฝึกงาน เช่น การใช้งานโปรแกรม Canva และ เทคนิคการนำเสนอ PowerPoint ผ่านโปรแกรม Canva เป็นต้น
DPU มีจุดเด่นในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ “พร้อมใช้งาน” โดยเฉพาะนักศึกษาในโครงการ CWIE ที่ได้รับการพัฒนาทักษะควบคู่ไปกับการเรียนภาคทฤษฎี จนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติงานจริงได้ทันที หลังสำเร็จการศึกษา ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานประกอบการต้องการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการผลิตบัณฑิต เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงานบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง และลดระยะเวลาในการปรับตัวของพนักงานใหม่ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรใหม่
“องค์กรมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเข้ามาของเทคโนโลยี AI ซึ่งงานบางส่วนอาจนำเครื่องมือ AI เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จึงอาจส่งผลให้บทบาทของนักบัญชีในอนาคตเปลี่ยนไปเป็นนักวิเคราะห์และนักวางแผนทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า อาชีพบัญชียังคงมีความมั่นคงและไม่ถูกแทนที่ด้วย AI และพร้อมส่งเสริมให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพนี้ เพราะตลาดแรงงานยังขาดแคลน และมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง” นางสาวสงกรานต์ กล่าวทิ้งท้าย