องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายไอเดียการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ๆ ในการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่าสูงสุด 130,000 บาท
โจทย์การแข่งขัน
Theme Forward Voyage (นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)
ประเภทรุ่นการแข่งขัน
1. รุ่นนักเรียน/นักศึกษา
2. รุ่นประชาชนทั่วไป
รูปแบบของนวัตกรรมการประกวด
นวัตกรรมเชิงรูปธรรม
– เป็นนวัตกรรมที่เป็นชิ้นงาน จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน
– เป็นแนวคิดหรือผลงานที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
– เป็นแนวคิดหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้จริง ใช้งานได้จริง มีการสร้างจากวัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำเสนอในการแข่งขัน
– เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นวัตกรรมเชิงความคิด
– เป็นนวัตกรรมการคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานได้
– เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
– เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
– เป็นแนวคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างจากนวัตกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
รางวัลของผู้ชนะการแข่งขัน (แบ่งเป็นประเภทรุ่นการแข่งขัน)
รางวัลที่ 1 เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตรและถ้วยรางวัล)
รางวัลที่ 2 เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)
รางวัลที่ 3 เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)
รางวัลชมเชย เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)
นวัตกรรมของการแข่งขัน จะต้องตอบโจทย์การท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ด้านใด ด้านหนึ่ง
1. ด้านเศรษฐกิจ (ด้วยโมเดล BCG Tourism)
BCG Tourism คือ โมเดลวิถีใหม่ในการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืน โดยเอาความรู้และนวัตกรรมจากเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจชีวภาพมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร ส่งเสริมกระบวนการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำได้ กระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และให้ความสำคัญในการลดการใช้พลังงานและขยะ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักความสมดุลในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตามทิศทางของเศรษฐกิจแต่ละแขนงดังต่อไปนี้
– แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ
การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farming เป็นวิธีการที่ช่วยให้การดูแลผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างครบถ้วน จากการจัดการทุกกระบวนการผลิตอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และไร้สารเคมี และเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวอินทรีย์ที่เข้าถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง
– แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
การนำผลิตผลและบริการที่มีในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการวางแผนและออกแบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ทุกอย่างถูกนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดการใช้วัสดุลง และทำให้การท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน
– แนวทางเศรษฐกิจสีเขียว
การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งหวังให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการลดมลพิษและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนด้วยการนำเอาขยะไปแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่า
2. ด้านสังคมวัฒนธรรม (Creative Tourism)
การพัฒนาชุมชนท้องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ชุมชนได้ร่วมกันรักษาและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งสิ่งที่เป็นเชิงรูปธรรมและนามธรรม กระบวนการนี้ช่วยให้ทรัพยากรท้องถิ่นถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า และสามารถสร้างมูลค่าได้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับชุมชน โดยมีหลักการสำคัญ 6 ข้อ ที่เป็นแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
1. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. การจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น
3. การสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์วัฒนธรรม
4. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์
5. การสร้างกระบวนการเรียนรู้
6. การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นด้วยวัฒนธรรม
3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)
คือ การท่องเที่ยวที่ทั้งผู้มาเยือน และผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ (เจ้าของพื้นที่) ต่างใส่ใจและร่วมมือกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ร่วมกันลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรธรรมชาติจะคงอยู่ได้ในระยะยาว
– นวัตกรรมการลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
– นวัตกรรมการนำสิ่งแวดล้อมมาสร้าง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นสำหรับคนในท้องถิ่น
– นวัตกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ
– การมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานยิ่งขึ้นแก่นักท่องเที่ยว ผ่านการเชื่อมโยงที่มีความหมายกับคนในท้องถิ่น และความเข้าใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น
ขั้นตอนเมื่อสมัครเข้าร่วมการประกวด
1. สมัครเข้าร่วมกิจกรรมโดยแนบคลิปวิดีโอการนำเสนอ หรือ ร่างผลงานของท่าน ภายใน ภายใน 30 พฤษภาคม 2567
2. ประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกผ่านทางเพจ Dasta Thailand และ ช่องทางเว็บไซต์ https://dasta-sti.com
3. กิจกรรมอบรมสร้างความรู้ด้านนวัตกรรม
4. กิจกรรมการแข่งขัน Sustainable Tourism Innovation 2024
5. ทดสอบการใช้งานของนวัตกรรม ณ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม
1. รับสมัครเป็นทีม โดยสมาชิกในทีมต้องมีจำนวน 1-4 คน
2. ผู้สมัครต้องมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป (ณ วันที่รับสมัคร) (นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชนทั่วไป)
3. ในกรณีที่เป็นสถาบันการศึกษาส่งเข้าประกวด สามารถส่งทีมแข่งขันได้ไม่จำกัด (เฉพาะจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)
4. ผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งผลงานประดิษฐ์ได้ ไม่จำกัดจำนวน หากผลงานเข้ารอบมากกว่า 1 ผลงาน ทางโครงการฯ จะขออนุญาตให้สิทธิ์ทีมแข่งขันคัดเลือกผลงานได้ 1 ผลงานเท่านั้น
5. ไม่สามารถเปลี่ยนตัวสมาชิกในกลุ่มได้ ยกเว้นในกรณีสุดวิสัยและต้องผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติจากหน่วยงาน อพท. เท่านั้น
ขั้นตอนการสมัคร
1.ทีมแข่งขันจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 18 มีนาคม – 30 เมษายน 2567
2. ทีมแข่งขัน 1 ทีม จะต้องกรอกเอกสารและแนบเอกสารในลิงก์ที่โครงการฯ กำหนดให้ถูกต้อง และครบถ้วน โดยจะประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไปของทีมแข่งขัน ประกอบด้วย
ชื่อหัวข้อผลงาน ข้อมูลสมาชิกทุกคนในทีม และข้อมูลอื่น ๆ ตามที่โครงการฯ กำหนด
– ชื่อทีม
– ชื่อสมาชิกทีม
– ชื่อผลงาน
– ชื่อสถาบันของท่าน (ถ้ามี)
เนื้อหานวัตกรรมสำหรับการส่งเพื่อแข่งขัน
– คลิปวิดีโอการนำเสนอ (ไม่เกิน 5 นาที) นำเสนอแนวคิด หรือ การทำงานของผลงาน
– สภาพปัญหา/ที่มาและความสำคัญของปัญหา (Pain Points)
– อธิบายแนวคิดและการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ (ในรูปแบบนวัตกรรมที่จับต้องได้) ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดในด้านต่าง ๆ
– อธิบายแนวคิด (ในรูปแบบนวัตกรรมความคิด) ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดในด้านต่าง ๆ
– อธิบายแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิด ที่จะสามารถสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ได้อย่างไร
– ภาพร่างผลงาน
– เอกสารอ้างอิง (ถ้ามี)
กรรมสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ
1. ผู้เข้าร่วมการเแข่งขันต้องเป็นเจ้าของผลงานในการส่งเข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงส่วนประกอบของผลงานและเนื้อหา ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายทั้งหมด
2. ผลงาน แนวคิด ทุกผลงานในทุกรอบ จะถือเป็นลิขสิทธิ์ หรือ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
3. หากบุคคลภายนอกกล่าวอ้างหรือใช้สิทธิเรียกร้องได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดในผลงานที่ได้รับรางวัล ทางคณะกรรมการพิจารณาผลงานขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกคืนรางวัลที่ได้รับ สำหรับกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวอ้าง
4. ขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธความรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการที่บุคคลภายนอกกล่าวอ้าง หรือ ใช้สิทธิเรียกร้องได้ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใดในผลงานที่ได้รับรางวัล สำหรับกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงตามข้อกล่าวอ้าง
5. สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องใส่ตราสัญลักษณ์ของ อพท. ระบุว่า อพท. เป็นผู้ร่วมสนับสนุนผลงานชิ้นนี้ เป็นระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันประกาศผล และ อพท. สามารถนำผลงานไปทดลองใช้งาน พัฒนา วิจัย และต่อยอด รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือ โฆษณาประชาสัมพันธ์ ติชม วิจารณ์ หรือ แนะนำผลงานได้ภายในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้เข้าร่วมแข่งขัน ทั้งนี้ นับแต่วันประกาศผล
6. ผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ได้รับรางวัล ต้องส่งมอบ Source Code ให้แก่ อพท. ภายในเวลา 1 อาทิตย์ หลังจากที่ได้รับการประกาศผลผู้ชนะการแข่งขัน เพื่อยืนยันการเป็นเจ้าของผลงาน
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯได้ที่ Line ID : @dastasti
อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/HKOQV