มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับสมัครนักศึกษา โครงการคัดเลือกตรง “ทุนการศึกษารุกขพิทยพัฒน์” ระดับปริญญาโท ภาคการศึกษาที่ 1/2567 เริ่มการศึกษา สิงหาคม 2567 สมัครได้ตั้งแต่ บัดนี้ ถึง 31 พฤษภาคม 2567
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ Forschungszentrum Jülich (Jülich) โดย Institute of Bio – and Geosciences Plant Sciences (IBG-2) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยในสาขา Plant Phenotyping and Sustainable Bioeconomy ครอบคลุมงานทางด้านเกษตรแม่นยำ อาทิ ความร่วมมือในการศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ (Phenotype) จีโนไทป์ (Genotype) สรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของรากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง โดยได้ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมตามข้อตกลง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สถาบันวิจัย Jülich จึงร่วมดำเนินการให้ทุนแก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้รับพระราชทานชื่อ “ทุนรุกขพิทยพัฒน์” จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2565 – 2568 โดยให้ทุนแก่นักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 ทุนต่อปี และ ระดับปริญญาโท จำนวน 3 ทุนต่อปี โดยเฉพาะด้านพืชศาสตร์ (Plant Science) วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic Engineering and Automation System) และ สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
วัตถุประสงค์ของทุน
1. เพื่อสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาโทที่มีศักยภาพ ความสามารถ และมีความใฝ่รู้ มีทุนการศึกษาตลอดระยะเวลาการศึกษาที่ระบุในหลักสูตร และภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
2. เสริมสร้างความร่วมมือวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัย Jülich เพื่อพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยในสาขาการศึกษาเทคโนโลยีข้อมูลฟีโนไทป์ของพืช (Plant Phenotyping Technologies) และ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ (Sustainable Bioeconomy) และ สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยมหาวิทยาลัย โดยสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับพันธมิตร และพัฒนามุ่งสู่ความเป็นสากล
คุณสมบัติด้านการศึกษาของผู้สมัครขอรับทุน
– ผู้สมัครประเภท Active recruitment
(1) ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในระดับปริญญาตรี และได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ
(2) เป็นผู้มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 3.25 และได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ
(3) กรณี คะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 3.25 ต้องมีผลงานเชิงสร้างสรรค์ หรือ นวัตกรรมที่สอดคล้อง หรือ สัมพันธ์กับหลักสูตรที่เลือกศึกษา เป็นที่ประจักษ์
(4) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่ สำนักงานกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง ก่อนการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 และจะลงนามสัญญารับทุนได้ก็ต่อเมื่อมีใบรับรองการจบการศึกษา
(5) ผู้สมัครต้องไม่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท หรือ ผู้สมัครต้องไม่เคยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาก่อน
– ผู้สมัครประเภทนักศึกษาปัจจุบัน
เป็นผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในภาคการศึกษาที่ 1 ไม่น้อยกว่า 3.50 และจะได้ลงนามสัญญาต่อเมื่อมีใบรับรองผลการศึกษา
– ผู้สมัครต้องสามารถแสดงออกถึงเหตุผลและความจำเป็น และความรู้ความเข้าใจในระดับที่น่าพอใจในสาขาวิชาที่จะทำวิทยานิพนธ์ โดยการประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ และจากเรียงความที่เขียนด้วยตัวเอง (Statement of Purpose) ความยาวประมาณ 600 คำ
– ผู้สมัครต้องสามารถทำงานวิจัย และวิทยานิพนธ์ด้านการศึกษาเทคโนโลยีข้อมูลฟีโนไทป์ของพืช (Plant Phenotyping Technologies) และ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Bioeconomy) ดังนี้ ซึ่งครอบคลุมงานวิจัย ตัวอย่างเช่น เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ และ เกษตรดิจิตัล (Precision, Smart and Digital Agriculture)
– การศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ (Phenotype) และ จีโนไทป์ (Genotype) ของพืช และการพัฒนาระบบอัตโนมัติ เพื่อการศึกษาการเจริญพัฒนาของพืช (Automation Development)
– วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics Engineering and Automation System)
– สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Bioeconomy)
– ผู้สมัครที่เคยทำวิทยานิพนธ์ หรือ ทำวิจัย หรือ เลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้กลุ่มวิจัยที่มีผลงานหรือมีศักยภาพที่จะสร้างผลงานที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจและสังคม จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
– ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองว่า เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษา หรือ การทำงาน และมีเจตคติที่ดี จากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ หรือ วิทยานิพนธ์ หรือจากผู้บังคับบัญชากรณีที่เคยทำงาน
– ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองจากอาจารย์ที่จะรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการรับทุน
– ผู้สมัครสามารถส่งเอกสารเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัย และด้านวิชาการอื่นเพื่อสนับสนุนได้
– ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศจริง และจะต้องแสดงหลักฐานในการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน หากเอกสารไม่ครบภายในระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือ คุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศ อันมีผลทำให้ผู้สมัครไม่มีสิทธิสมัครรับทุน ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการสอบคัดเลือกตามประกาศนี้ และให้ถือว่าการรับสมัครและการได้เข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ เป็นโมฆะสำหรับผู้นั้น และจะใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ กับมหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งสิ้น
หากมีการตรวจสอบเอกสาร หรือ คุณสมบัติในภายหลังปรากฏว่า ผู้ได้รับทุนรายใดไม่มีคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือ ขาดคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งตามประกาศ ให้ถือว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการสมัครรับทุนในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัย
การสรรหาและพิจารณาให้ทุน
7.1 ผู้สมัครประเภท Active recruitment การสรรหาด้วยวิธีการเชิงรุก ให้สมัครขอรับ ทุนรุกขพิทยพัฒน์ ระดับมหาบัณฑิตได้ที่ Website ของ สำนักงานคัดเลือกและสรรหานักศึกษา https://join.kmutt.ac.th/ พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบการสมัคร และมหาวิทยาลัยจะดำเนินการคัดเลือกผู้มีสิทธิรับทุน โดย สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร
7.2 ผู้สมัครประเภทนักศึกษาปัจจุบัน ผู้สมัครที่เป็นนักศึกษา ระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 คัดเลือกผู้มีสิทธิ์ขอรับทุน โดย สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร ผู้สมัครสามารถกรอกใบสมัครทุนการศึกษา ได้ที่สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร
สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ โทร. 02-470-8367 หรือที่ อีเมล admission@kmutt.ac.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://shorturl.asia/OWYKs
อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/W6mFq