จุฬาฯ จับมือ สธ. แถลงความสำเร็จโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ทะลุเป้า ช่วยรัฐประหยัดงบ 37 ล้านบาท คืนเวลาราชการ 1.6 แสนชั่วโมง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความสำเร็จของ โครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม หรือ Care D+ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผล ยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณและสุขภาวะ จุฬาฯ เป็นประธานในงานแถลงความสำเร็จในครั้งนี้ โดยมีผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมงาน
.
จากการดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ในโครงการ Care D+ ระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานผลการดำเนินโครงการ พบว่า ประสบความสำเร็จใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร Care D+ แล้วกว่า 20,000 คน เกินเป้าหมาย 10,000 คน ที่ตั้งไว้ 2) ช่วยประหยัดงบประมาณการฝึกอบรมของภาครัฐได้ถึง 37 ล้านบาท 3) คืนเวลาการทำงานให้แก่ราชการได้มากถึง 160,000 ชั่วโมง และ 4) ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการอบรมได้ถึง 143 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
.
.
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผล ยุทธศาสตร์ แผน การงบประมาณและสุขภาวะ จุฬาฯ กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ Care D+ เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้ง กระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาหลักสูตรและระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการสื่อสารในระบบสาธารณสุขไทย สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบราชการโดยรวมอีกด้วย ความสำเร็จนี้สามารถเป็นต้นแบบในการนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างกว้างขวาง เมื่อบุคลากรภาครัฐมีทักษะการสื่อสารที่ดี เข้าใจประชาชน ย่อมส่งผลถึงคุณภาพการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ภาครัฐโดยรวม ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการปฏิรูประบบราชการไทยให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
.
ทางด้าน รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการนี้ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกฝ่ายในความตั้งใจและทุ่มเทร่วมกันพัฒนาหลักสูตร Care D+ จนเป็นหลักสูตรออนไลน์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี และสามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติได้จริง จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งในแง่ของการประหยัดงบประมาณ การคืนเวลาให้ราชการ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าร่วมหลักสูตรนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อให้สามารถสื่อสารและบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จของโครงการในครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน เราสามารถยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาพยาบาลของไทยได้อย่างแน่นอน หวังว่า กระทรวงสาธารณสุขจะนำผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ไปใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องต่อไป ควบคู่ไปกับการขยายผลความสำเร็จและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง เพื่อร่วมกันสร้างระบบสาธารณสุขไทยให้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
.
.
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทางคณะทำงานโครงการ Care D+ หวังว่า จะขยายการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับบุคลากรทางการแพทย์ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรอบรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตามข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมหลักสูตร เพื่อผลักดันให้เกิดทีม Care D+ อย่างทั่วถึงในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ นำมาซึ่งระบบสาธารณสุขไทยที่มีคุณภาพและเข้าใจ ใส่ใจ ประชาชนอย่างแท้จริง

RANDOM

‘น้ำมันเชื้อเพลิงจากยีสต์’ ผลงานวิจัยคณะวิทย์ฯ จุฬาฯ ตั้งเป้าขยายการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมอากาศยาน ลดนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

ห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ สสส. เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดคลิปโดนโดนบนแพลตฟอร์ม TikTok และ Youtube หัวข้อ “บอกผู้ว่าฯ ของเราเรื่องฝุ่นทีว่า…” ชิงเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!