ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอำเภอละอย่างน้อย 1 โรงเรียน นั้น ขณะนี้ สพฐ. ได้คัดเลือกและประกาศรายชื่อโรงเรียน จำนวน 1,808 แห่ง เข้าร่วมโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” แล้ว แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 901 โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 907 โรงเรียน และให้โรงเรียนประเมินตนเอง ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน จากนั้น สำนักงานเขตพื้นที่ฯ จะลงพื้นที่ประเมินโรงเรียนซ้ำว่า ตรงตามที่ประเมินตนเองมาหรือไม่ ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้จะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาเสริมเติมส่วนที่ขาด ทั้ง 5 ด้าน โดยพัฒนาโรงเรียนตามบริบทของตนเอง นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ เป็นโรงเรียนต้นแบบ ทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงเรียนแม่ข่ายสนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรในโรงเรียนแม่ข่ายได้อย่างทั่วถึง เป็นที่เชื่อมั่น สามารถดึงดูดนักเรียนและผู้ปกครองให้เลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านได้จริง
“นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นนโยบายสำคัญที่ สพฐ. ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ที่ สพฐ. ได้พัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 14,777 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประกอบกับ อัตราการเกิดของเด็กในแต่ละปีก็ลดลง สวนทางกับจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีโรงเรียนส่วนหนึ่งที่ต้องยุบเลิกเพราะไม่มีเด็กเรียน ดังนั้น สพฐ. จึงปรับจุดเน้นโครงการโรงเรียนคุณภาพที่ได้ดำเนินการมา โดยพัฒนาให้ครอบคลุม ทั้ง 5 ด้าน อย่างเข้มแข็ง สร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ลดภาระนักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนโรงเรียนในเมืองที่มีชื่อเสียง ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง นักเรียนเรียนดีมีความสุข โดยนำโรงเรียนคุณภาพไปอยู่ใกล้บ้านในทุกอำเภอ และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน สามารถดึงดูดนักเรียนและผู้ปกครองให้เลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านได้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน