พม. หนุน 6 มหาวิทยาลัยนำร่อง พัฒนาหลักสูตรทักษะอาชีพคนพิการระดับภูมิภาค อัปสกิลผู้พิการ หนุนเพิ่มการจ้างงานในอนาคต

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

จากข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ ปี 2566 พบว่า หน่วยงานภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการเพียงร้อยละ 18.73 เท่านั้น ในขณะที่ สถานประกอบการภาคเอกชนที่ต้องเข้าเกณฑ์การจ้างงานคนพิการตามที่กฎหมายกำหนด (มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป) เลือกใช้วิธีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้มาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในคุณสมบัติของคนพิการว่าจะสอดคล้องกับความต้องการหรือสามารถทำงานในส่วนที่รับผิดชอบได้เหมือนกับคนทั่วไป

นี่จึงเป็นที่มา ของ โครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ผ่านโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และแนวทางในการทำงานของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่อง 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายนำร่องแต่ละแห่ง พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของตนเอง โดยในปีแรกของโครงการ (1 เมษายน 2567 – 31 มีนาคม 2568) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาตรา 34 เป็นเงินจำนวนกว่า 23,000,000 บาท สำหรับจัดอบรมและฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 1 รวมทั้งสิ้น 300 คน

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เป้าหมายของการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษา คือ การ Upskill-Reskill และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการทำงาน และมีรายได้เลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนของคนพิการ ประกอบกับ โครงการขยายผลฯ นี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของกองทุนฯ และ พม. ซึ่งมีความตั้งใจที่จะให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง หรือ พนักงานมากกว่า 100 คน จ้างคนพิการเข้าไปทำงานตามมาตรา 33 มากขึ้น และได้คนพิการที่ทำงานได้จริงและมีศักยภาพ ลดช่องว่างของสังคม โดยเฉพาะคนพิการที่ไม่มีงานทำ จากที่สถานประกอบการไม่กล้าจ้าง เพราะกลัวว่าคนพิการจะทำงานไม่ได้ ทาง ปลัดกระทรวง พม. ได้เสนอแนะให้ มจธ. และเครือข่ายเขียนข้อเสนอโครงการไปขอทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ จึงเกิดเป็นโครงการนำร่องนี้ขึ้นมา

ด้าน ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวเสริมว่า โดยบทบาทของ มจธ. ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ หรือ แม่ข่าย จะทำหน้าที่ train the trainer และ facilitator (อาจารย์เกื้อหนุน) รวมทั้งช่วยแนะนำวิธีการ กรอบการทำงาน ตลอดจนสร้างความเข้าใจร่วมกัน และแนวทางหรือสิ่งที่จะต้องทำในโครงการฯ ที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

โครงการนี้จะทำให้เกิดการฝึกอบรม-ฝึกอาชีพตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ (demand-driven) ให้คนพิการมีสมรรถนะทำงานได้จริง ตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยในอนาคตอาจจะใช้มาตรา 35 ในการดำเนินการได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญ คือ การที่สถาบันอุดมศึกษาทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนพิการ สถานประกอบ และสังคม จนเกิดเป็นระบบนิเวศในการทำงานที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการไม่ใช่แค่ฝึกอาชีพ แต่ต้องหาสถานประกอบการมารับคนกลุ่มนี้ไปทำงาน หรือ การมีรายได้จากอาชีพอิสระ”

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโครงการฯ คือ การนำสิ่งที่ มจธ.ได้วางแผนและเคยดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มาเป็นแม่แบบ โดยกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงาน แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. หารือร่วมกับสถานประกอบการที่สนับสนุนโครงการ เพื่อหาอาชีพและพัฒนาหลักสูตรการฝึกที่คนพิการสามารถทำได้ มีความต้องการจ้างงาน หรือ เป็นอาชีพใหม่ที่มีดำเนินการฝึกอบรมให้คนพิการไม่มากนัก 2. รับสมัครและคัดเลือกคนพิการเข้าร่วมโครงการ ตามคุณสมบัติของแต่ละหลักสูตร รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการและมีแรงจูงใจที่ต้องการทำงานหรือประกอบอาชีพ 3. กระบวนการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ รวม 6 เดือน โดยครอบคลุมทักษะทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะด้านการสนับสนุนการทำงานและการใช้ชีวิต และทักษะการฝึกประสบการณ์ทำงานตรง 4. สนับสนุนการจ้างงานคนพิการร่วมกับภาคี ทั้งสถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ในการสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ 5. ระบบพี่เลี้ยงติดตามและให้คำแนะนำ และ 6. การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผลกระทบ และผลตอบแทนจากการลงทุน โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 9 – 31 พ.ค. 67 มหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 5 แห่ง จะเริ่มดำเนินการอบรมและฝึกอาชีพให้กับคนพิการ ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 67 และช่วยส่งเสริมการหางานและติดตามผลโครงการฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป

คาดหวังว่า โครงการขยายผลอุดมศึกษาฯ นำร่องนี้ จะทำให้มีคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรม เข้าสู่สถานประกอบการได้มากขึ้น หรือ คนพิการที่ไม่สะดวกในการไปทำงานกับสถานประกอบการ สามารถทำอาชีพอิสระที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบสิ่งพิมพ์ดิจิทัล หรือ งานฝีมือ และ หากรุ่นที่ 1 ผลลัพธ์ออกมาดี เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนขยายผลเพิ่มขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และหากทำอย่างต่อเนื่อง จำนวนคนพิการที่มีงานทำ มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โครงการฯ นี้จะช่วยสังคมไทยได้มาก ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิตคนพิการ ลดช่องว่าง และลดภาระของภาครัฐ ขณะเดียวกัน คนพิการเองจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง และสามารถดำรงชีพได้อย่างภาคภูมิ ที่สำคัญยังตอบโจทย์ SDGs ของประเทศอีกด้วย ซึ่งทาง มจธ. เองก็ทำเรื่องดังกล่าวมาอย่างยาวนานเช่นกัน” รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยนำกลไกตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มาตรา 35 มาช่วยในการขับเคลื่อน เพื่อฝึกอบรม-ฝึกงาน เตรียมความพร้อมให้คนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการและมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ มีหลักสูตรฝึกอบรม 4 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 2. หลักสูตรผู้ทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับคนพิการทางสายตา 3. หลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และ 4. หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน มีผู้สำเร็จจากการอบรมตามโครงการทั้งสิ้น 10 รุ่น กว่า 398 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และร้อยละ 50 ของผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน ได้รับการจ้างงานเข้าทำงานในสถานประกอบการจริง

RANDOM

บริษัท นานมี จำกัด ชวนประกวดภาพถ่าย สัปดาห์หนังสือและวัฒนธรรมจีน-อาเซียน 2024 (ประเทศไทย) หัวข้อ “กว่างซี ประทับใจไม่รู้ลืม” ชิงรางวัล สมัครและส่งผลงานได้ ตั้งแต่บัดนี้ – 23 พ.ย. 67

“ทุ่นตรวจวัดและแจ้งเตือนคุณภาพน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” แบบเรียลไทม์ เฝ้าระวังและแจ้งเตือนการรุกล้ำของน้ำเค็มแก่เกษตรกรและชุมชนริมคลอง ให้เตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!