สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรฯ โดยได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ ครูและบุคลากรทุกคนต้องมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 พร้อมทั้งมีความรู้และทักษะด้านการเงิน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพสูง
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สพฐ. ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านสถานีแก้หนี้ 245 แห่งทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งมีครูและบุคลากรทางการศึกษากว่าร้อยละ 90 มีหนี้สินอยู่ และยังมีภาคเอกชนเข้ามาช่วย เช่น ทีม The Money Coach หรือ โค้ชหนุ่ม ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในการพัฒนาบุคลากรหลักในการบริหารจัดการและสร้างความเข้มแข็งทางการเงิน ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ “เสริมสภาพคล่องการเงินครู” และ “ครูไทยการเงินดี มีความสุข เกษียณสบาย” และที่สำคัญกำลังเร่งเปิดเวทีเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ให้ไม่เกินร้อยละ 4.75 พร้อมทั้ง กำชับ สพท. ทุกแห่งให้หักเงินเดือนแล้วต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฐ. ได้เร่งเครื่องดำเนินการตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกมิติ โดยในส่วนของความร่วมมือกับ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่ผ่านมา ในรอบปีบัญชี 2566-2567 มี 37 สหกรณ์ เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว และในปีบัญชี 2567 สหกรณ์จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ ไม่เกินร้อยละ 4.75 ซึ่งจะมีผลเริ่ม 1 มิถุนายน 2567 นี้ ปัจจุบันมีการแสดงความจำนงอย่างเป็นทางการแล้ว 10 สหกรณ์ ได้แก่ สอ.กำแพงเพชร สอ.นครศรีธรรมราช สอ.นครสวรรค์ สอ.ประจวบคีรีขันธ์ สอ.พิจิตร สอ.สระบุรี สอ.สุโขทัย สอ.เครือข่ายพัฒนาชีวิตครูแพร่ สอ.อุทัยธานี และ สอ.กาญจนบุรี ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกซึ่งเป็นครูและบุคลากร ทั้งข้าราชการประจำ ลูกจ้าง และข้าราชการบำนาญ กว่า 120,000 คน ได้รับโอกาสที่ดี ทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น และสามารถผ่อนชำระเงินกู้ให้หมดเงินงวดได้โดยเร็วขึ้น
ขอบคุณข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน