องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขอเชิญชวนนักวิทย์ นักคิด นักวิจัยมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราว ความประทับใจ ความงดงามที่เกิดขึ้นในงานทางด้านวิทยาศาสตร์เหล่านั้น ให้สังคมได้รับรู้ ได้สัมผัสความวิจิตรของงานวิจัยไปด้วยกัน ในการประกวดภาพทางวิทยาศาสตร์ Image of Science “วิจิตร วิจัย” ประจำปี 2567 โดยส่งภาพพร้อมคำบรรยายถึงความงามและความสำคัญของภาพนั้น ผู้สนใจเข้าร่วมส่งผลงานโปรดเตรียมข้อมูล 4 ส่วนหลัก คือ ภาพ ชื่อภาพ คำบรรยายประกอบภาพ และข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือ เทคนิคที่ใช้สร้างภาพ
ประเภทที่เปิด ผลงานยอดเยี่ยม และ ผลงานยอดนิยม
ระยะเวลาส่งผลงาน ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 ก.ค. 2567
ระยะเวลาโหวตผลงานประเภทยอดนิยม ไม่เกิน 10 ส.ค. 2567 (โปรดติดตามการประกาศ)
1. ภาพ
– เป็นภาพที่เกี่ยวข้อง หรือ เกิดขึ้นในการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของเจ้าของภาพเอง
– เป็นภาพเชิงวิทยาศาสตร์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน หรือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์สาขาใดก็ได้ เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ ธรณีศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น โดยขอสงวนสิทธิ์สำหรับภาพที่สร้างขึ้นมาเพื่อความสวยงามเป็นหลัก อย่างเช่น ภาพในเชิงวิจิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ หรือ อื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
– ไฟล์ภาพควรมีความละเอียดระดับ HD ขึ้นไป ด้านที่สั้นที่สุดของภาพไม่ต่ำกว่า 720 pixels โดยส่งในรูปแบบไฟล์ JPEG PNG หรือ TIFF
2. ชื่อภาพ
ตั้งชื่อภาพยาวไม่เกิน 100 ตัวหนังสือ (character)
3. คำบรรยายประกอบภาพ
– คำบรรยายต้องเป็นภาษาไทย และใช้ภาษาที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย ที่อาจจะอธิบายถึงสิ่งที่ปรากฎอยู่ในภาพ วิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สาระความรู้ หรือแรงบันดาลใจที่เกี่ยวข้องกับภาพ ตลอดจนบทบาท หรือ ความสำคัญของภาพที่มีต่อการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของเจ้าของภาพ
– ประเภทยอดเยี่ยม คำบรรยายต้องมีความยาวระหว่าง 250-700 ตัวหนังสือ (character)
– ประเภทยอดนิยม คำบรรยายต้องมีความยาวระหว่าง 150-700 ตัวหนังสือ (character)
4. ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือ เทคนิคที่ใช้สร้างภาพ
– คำอธิบายเกี่ยวกับอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือ เทคนิคที่ใช้ผลิตภาพ
ตัวอย่าง (1) ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (TEM) ที่อัตราขยาย 500,000 เท่า และปรับแต่งสีของภาพด้วยโปรแกรม Photoshop
(2) ใช้กล้องจุลทรรศน์แบบ Phase Contrast ถ่ายภาพผ่านกระบวนการ X-ray หรือ Radioactive เป็นต้น
– ยาวไม่เกิน 300 ตัวหนังสือ (character)
– ภาพที่ส่งไม่จำกัดอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือ เทคนิคในการสร้างภาพ อย่างเช่น ภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล กล้องจุลทรรศน์ อิเล็กตรอนไมโครสโคป แบบจำลอง ภาพสแกนจากภาพวาด ไดอะแกรม หรือ ภาพที่ผลิตจากคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
รายละเอียดและกติกาเพิ่มเติม
– การประกวดในรอบนี้ไม่มีการแบ่งรุ่น หรือ อายุของผู้ส่งผลงาน
– ในแต่ละรอบการประกวด ผู้ส่งผลงานสามารถส่งได้ประเภทละ ไม่เกิน 5 ผลงาน (รวมสูงสุดไม่เกิน 10 ผลงาน ในกรณีที่ส่งประกวดทั้งประเภทยอดเยี่ยม และ ยอดนิยม) โดยแต่ละผลงานจะต้องเลือกส่งประกวดในประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น (ยอดเยี่ยม หรือ ยอดนิยม) ซึ่งแต่ละภาพและคำบรรยายที่ส่งเข้าประกวดจะต้องไม่ซ้ำกัน
– ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร หนังสือ เอกสารอื่น ๆ ไม่เคย ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ หรือ แสดงต่อสาธารณะอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทางการค้า และไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดเวทีสาธารณะ หรือ การประกวดภายในของชมรม สมาคม หรือ องค์กรต่าง ๆ รวมถึงไม่มีข้อผูกมัดเรื่องลิขสิทธิ์ภาพ จากหน่วยงานใด
– ภาพที่ส่งไม่จำกัดอุปกรณ์ เทคโนโลยี หรือ เทคนิคในการสร้างภาพ หากใช้โดรน (Drone) ในการถ่ายภาพ จะถือว่าผู้ส่งผลงานได้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการใช้โดรน เพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมีส่วนรับผิดชอบต่อผลบังคับทางกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว
– ห้ามมีการตัดต่อภาพ แต่สามารถตัดส่วนของภาพ (Crop) ได้ และสามารถปรับแต่งภาพได้เฉพาะการปรับสี แสง น้ำหนักของภาพ การลบรอยฝุ่น เท่านั้น โดยการปรับแต่งดังกล่าว ต้องไม่ทำให้เกิดความสูญเสีย หรือ ทำให้ภาพเสียความหมาย อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสิ่งที่จับภาพไว้ ทีมงาน อาจจะขอให้ส่งภาพต้นฉบับ และ ชื่อโปรแกรม หรือ application ที่ใช้ในการตกแต่งผลงานมาทางอีเมล email: nsmphotocontest@nsm.or.th ในภายหลัง
– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้สร้างภาพด้วยด้วยตนเอง ห้ามนำผลงานของผู้อื่นมาส่งแทน และห้ามส่งผลงานในนามผู้อื่น หากตรวจพบจะตัดสิทธิ์รางวัลที่ได้รับ และตัดสิทธิ์ในการส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งต่อ ๆ ไป หากมีปัญหาข้อสงสัย ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้ชี้ขาด
– ผู้ส่งผลงานต้องรับรองและยืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าของภาพ และเนื้อหาข้อมูลทั้งหมด ที่ใช้ร่วมกิจกรรมการประกวด โดยไม่มีการนำรูปภาพ หรือ เนื้อหาข้อมูลในการบรรยายของผู้อื่นมาเข้าร่วมกิจกรรมการประกวด ซึ่งถือเป็นการละเมิดทางทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้นละเมิดสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น หากมีการร้องเรียนในทางแพ่ง ซึ่งมีค่าสินไหมทดแทนในฐานละเมิด หรือ การร้องเรียนใด ๆ ที่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ในภาพ หรือ เนื้อหาข้อมูลนั้น ๆ รวมทั้งการละเมิดต่าง ๆ ผู้ส่งผลงานประกวดจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว โดยทาง อพวช. จะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น
– ผู้ส่งผลงานต้องรักษาภาพต้นฉบับไว้ ในกรณีที่ทีมงานมีข้อสงสัย สามารถร้องขอให้ผู้ส่งผลงานแสดงภาพต้นฉบับที่แท้จริงได้
– ไฟล์ภาพรวมทั้งคำบรรยายที่ส่งเข้าประกวด จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ อพวช. แต่ลิขสิทธิ์ของภาพทุกภาพยังคงเป็นของผู้ผลิตภาพอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดยินยอมตกลงให้ อพวช. มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์และเผยแพร่ภาพบางส่วนหรือ ทั้งหมดในช่องทางต่าง ๆ ตลอดจนสามารถปรับปรุง และดัดแปลงเนื้อหาในคำบรรยายของทุกผลงานได้โดยชอบ เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร และประชาสัมพันธ์งานด้านการตลาด
– ภาพที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ต้องมีความเหมาะสม ต้องไม่มีเจตนามุ่งร้าย ส่อเสียด หรือ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม และ เสื่อมเสียต่อบุคคลที่สาม หรือ สถาบันอันเป็นที่เคารพ ไม่ขัดกับศีลธรรม จรรยาบรรณ หรือ ละเมิดสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น หากผลงานนั้นละเมิดสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น ผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการลบภาพ และ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสิทธิ์ผลงานที่พบว่า มีการทำซ้ำ ลอกเลียนแบบ ดัดแปลง แก้ไข จากภาพหรือแหล่งภาพที่ขัดกับกติกาการประกวดนี้ เพื่อใช้ร่วมกิจกรรมการประกวดครั้งนี้
– หากภาพที่ส่งเข้าประกวดปรากฏใบหน้าบุคคล ที่สามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพได้ ผู้ส่งภาพเข้าประกวดจะต้องแนบเอกสารเอกสารยินยอมให้ใช้ หรือ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล จากบุคคลในภาพ/ผู้ปกครองของบุคคลในภาพ ในคราวเดียวกับการส่งภาพเข้าประกวด ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มิเช่นนั้น จะถือว่าภาพดังกล่าว ไม่ผ่านเกณฑ์การประกวด และถูกตัดสิทธิ์จากการพิจารณาตัดสินรางวัล
– ผู้ส่งผลงานต้องมีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในเมืองไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อและมอบรางวัล อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่อนุญาตให้พนักงาน ลูกจ้าง และอาสาสมัคร ของ อพวช. ส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดนี้
– ภาพที่ได้รับรางวัลต้องส่งไฟล์ภาพต้นฉบับ และ ชื่อโปรแกรม หรือ application ที่ใช้ (หากมีการร้องขอจากคณะกรรมการ) มาทาง Email: nsmphotocontest@nsm.or.th เพื่อยืนยันการรับรางวัล
– อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณายกเลิกสิทธิ์ของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด หรือ การเปลี่ยนแปลงผลคะแนนใด ๆ หากพบว่ามีการทุจริต หรือ ส่อเจตนาทุจริตในการร่วมกิจกรรมการประกวด หรือ การรับรางวัลใด ๆ รวมทั้งหากตรวจสอบพบการกระทำผิดกติกาการประกวดในภายหลัง อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกสิทธิ์ในการรับรางวัล โดยให้มีผลย้อนหลังในการยกเลิกสิทธิ์นั้นได้เช่นกัน
– ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิ์รับรางวัลสูงสุดได้เพียงรางวัลเดียว ต่อ 1 รอบการประกวด
– อพวช. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เงื่อนไข และ รางวัลได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
– การร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจะถือว่าผู้ส่งผลงานได้รับทราบและยินยอมปฏิบัติตามกติกาการเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดฉบับนี้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ และยินยอมให้ อพวช. เก็บ รวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อดำเนินงานอันเกี่ยวข้องกับการประกวด เช่น การทำทะเบียนเจ้าของผลงาน หรือ การติดต่อประสานงานต่าง ๆ เป็นต้น
– ผู้ส่งผลงานต้องกรอก ชื่อ-นามสกุลจริง ที่อยู่ อีเมล และ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้จริง
– ผู้ส่งผลงานสามารถร้องเรียนผลการประกวดได้ 1 ครั้ง หลังจากการประกาศผลการตัดสินภายใน 3 วัน โดยร้องเรียนผ่าน Email : nsmphotocontest@nsm.or.th
– การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุดในทุกกรณี
การพิจารณารางวัล
ประเภทผลงานยอดเยี่ยม จำนวน 4 รางวัล คือ ยอดเยี่ยมสูงสุด รองอันดับ 1 รองอันดับ 2 และ ชมเชย (ถ้ามี) โดยตัดสินจากความสวยงามของภาพ ความถูกต้องของเนื้อหา รวมถึงการบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการผู้พิจารณาเป็นผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ อพวช. ทั้งนี้ การตัดสินในรอบแรก กรรมการแต่ละท่านจะให้คะแนนแต่ละผลงานที่ส่งเข้าประกวด คะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งเป็น ส่วนของภาพ และคำบรรยาย 60 และ 40 คะแนน ตามลำดับ หลังจากนั้น ภาพที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งเป็นภาพที่ได้สูงสุด 5-10 ภาพแรก และได้คะแนนในแต่ละส่วน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (30 และ 20 คะแนนตามลำดับ) จะถูกนำมาพิจารณาในการตัดสินรางวัลในที่ประชุมของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง
ประเภทผลงานยอดนิยม จำนวน 3 รางวัล คือ ยอดนิยมสูงสุด รองอันดับ 1 และ รองอันดับ 2 ซึ่งพิจารณาจากคะแนนโหวตของรูปภาพ ความสวยงามของภาพ และความถูกต้องของเนื้อหา รวมถึงการบรรยายต้องมีความสอดคล้องกับภาพ และเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน โดยคณะกรรมการผู้พิจารณา คือ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ อพวช.
ประกาศผลการตัดสินรอบที่ 1 Image of Science “วิจิตร วิจัย” ภายในวันที่ 20 ส.ค. 2567
ที่เว็บไซต์ http://contest.nsm.or.th/ ทั้งนี้ หากกำหนดการประกาศผลภาพถ่ายจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้จัดจะแจ้งให้ผู้ส่งภาพเข้าประกวดและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ต่อไป
รางวัลสำหรับการประกวด
ประเภทผลงานยอดเยี่ยม
รางวัลชนะเลิศ 10,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 8,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 6,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลชมเชย (ถ้ามี) 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
ประเภทผลงานยอดนิยม
รางวัลชนะเลิศ 3,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 2,500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร
เงื่อนไขการรับรางวัล
หลังจากการประกาศผลรางวัล บนเว็บไซต์ http://contest.nsm.or.th/ ให้ผู้ที่ได้รับรางวัล รอรับรายละเอียดการรับรางวัลทางอีเมลที่กรอกไว้ตอนส่งรูปภาพประกวด โดยเจ้าหน้าที่จะส่งรายละเอียดไปให้ทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ* และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ส่งอีเมลแล้ว ให้ท่านส่งรายละเอียดกลับมาตามข้อมูลที่แจ้งในอีเมลภายใน 10 วันทำการ (ถือวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ) หากพ้นกำหนดนี้ จะถือว่าท่านสละสิทธิ์ในการรับรางวัล
*หมายเหตุ หากไม่ได้รับอีเมลภายใน 3 วันทำการ ให้โทรแจ้งที่ 02-577-9999 ต่อ 1475 หรือที่ Facebook : NSMthailand
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
กองสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี
โทร. 02-577-9999 ต่อ 1472, 1475 หรือ www.nsm.or.th หรือ Facebook: NSMthailand หรือ Email : nsmphotocontest@nsm.or.th
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://shorturl.asia/D6d3b
อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/gDFHN
ขอบคุณภาพจาก นายแพทย์ฐาปนันท์ มหิศนันท์