มจธ. จัดงาน Thailand Competitiveness Forum (TCF2024) มุ่งยกระดับองค์กรธุรกิจ หนุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ณ Auditorium อาคาร KX Knowledge Xchange ถนนกรุงธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025 การยกระดับอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้ง กิจกรรมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ ซึ่งจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย สถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566 ในอันดับที่ 30 จากเดิมอยู่ ในอันดับที่ 33 ซึ่งในปี 2567 นี้ พบว่า ข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทยอยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ดังนั้น ความท้าทายของภาคธุรกิจไทย คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยี และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเข้มข้น

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ คาดว่า ประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.2-2.7 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเพิ่มเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ ได้ในปีหน้า จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาคเกษตร และการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรค นอกจากหนี้ครัวเรือนที่ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วสูงถึง 16.4 ล้านล้านบาท แล้ว ก็คือ การ reform ภาคอุตสาหกรรมไปสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” ที่เป็นหนึ่งในโจทย์หลัก คือ การสร้างคนที่เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้

หนึ่งในรูปแบบสงครามยุคหน้า คือ Talent War หรือ สงครามแย่งคนเก่ง ที่สิงคโปร์คนเขาเก่งมาก ซึ่งคนไทยก็เก่งมาก ๆ เพียงแต่ ecosystem ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น การสร้างเวทีจะดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ และดึงคนเก่งมาอยู่ที่ประเทศไทย จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก พร้อมไปกับการผลักดันให้ไทยมี Digital Transformation เพื่อไปสู่ E-Government เต็มรูปแบบให้ได้”

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอประเด็นความท้าทายของเศรษฐกิจโลกต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน” ว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ประกอบด้วย 1. Technology Disruption หรือ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยนำเอาระบบ AI และ Robot เข้ามามีบทบาทมากขึ้น 2. สงครามการค้า (Trade War) ที่กำลังจะกลับมา และ สงครามด้านเทคโนโลยี (Technology War) ที่กำลังรุนแรงยิ่งขึ้น 3. ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น 4. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่กดดันเศรษฐกิจโลก 5. การเข้าสู่ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่นำไปสู่มาตรการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ

ความสามารถทางการแข่งขันของเราขยับขึ้นจากอันดับที่ 33 มาเป็น 30 แต่เป้าหมายของเรา คือ ติด 20 อันดับแรก นี่คือโจทย์ของประเทศ และ สภาอุตสาหกรรมว่าจะทำอย่างไร ให้ลำดับของเราเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมใหม่ เพราะตอนนี้เรากำลังถูก Disruption ด้วยเทคโนโลยี และยังมี new S-Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์วงจร ที่นอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของเราแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ต่างชาติจะเข้ามาในบ้านเรามากขึ้น เพราะเราเป็นประเทศที่มีแรงงาน สิ่งที่เราต้องทำ คือ ทำให้ประเทศไทยพร้อม และอยู่ในจอเรดาร์ของผู้ที่อยากเข้ามาลงทุน เราต้องใช้วิกฤตครั้งนี้ในการสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้น สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม และนี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาคุยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ในการที่จะออกแบบดีไซน์หลักสูตรที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ”

ทางด้าน ผศ.ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มจธ. กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดความสามารถในแข่งขันขององค์กรในยุคนี้และยุคต่อไป คือ ความเปลี่ยนแปลงของโลก (megatrend) ที่ประกอบด้วย 5 ด้าน สำคัญ คือ ด้านสภาวะภูมิอากาศ ที่ทำให้วัตถุดิบบางอย่างมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น ด้านเทคโนโลยี ที่ต้องมีการเตรียมคนของเราให้พร้อมรับกับเทคโนโลยี AI และ Robotics ด้านประชากรศาสตร์ ที่ต้องรับมือกับสังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น คนวัยทำงานน้อยลง และ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงด้านสังคม

สินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ สินค้าที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ และมากกว่านั้น คือ การบริหารองค์กกรที่มีความโปร่งใส ความถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของสังคม คำถาม คือ โลกเปลี่ยนแล้ว แต่ในบทบาทของเรา วิธีการบริหาร และการพัฒนาสินค้าและบริการต้องเปลี่ยนไหม ซึ่งหากมองเป็นโอกาส ก็จะทำให้สามารถวางแผนธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้”

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนา หัวข้อ “เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมี รวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหาร สายงานการเงินและกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) , วริทธิ์ กฤตผล Commercial Director บริษัท Rayong Engineering & Plant Service Co., Ltd. หรือ REPCO Nex Industrial Solutions ในเครือ SCG และ วิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital Mar Tech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.รังสรรค์ เกียรติ์ภานนท์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมข้อคิดสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นสร้าง หรือ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในองค์กร

สำหรับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนด้วย STECO’s Enterprise Mix เป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ภายใต้ แนวคิด 5Ps ได้แก่ Purpose (จุดมุ่งหมาย) People (บุคลากร) Performance (ผลงาน) Process (กระบวนการทำงาน) และ Partner (พันธมิตร) โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้เกิดการยกระดับทักษะบุคคล ยกระดับความสามารถทางการแข่งขันองค์กร และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป

RANDOM

รมต.กีฬา สั่งกกท.เคลียร์ข้อครหาใช้เงิน-โอลิมปิคไทยเกินหน้าที่-ไม่มีการประชุมฝ่ายจัด-ฝ่ายกีฬาถูกตัดดิ้นพล่าน แต่ยังไง’เอเชียนอินดอร์เกมส์’ไทยก็น่าจะได้จัด เพราะรัฐยืนยัน และทั้งงาน แล้วก็ผลประโยชน์เดินหน้าแล้ว

NEWS

ม.หอการค้าไทย ชวนน้อง ๆ มัธยมปลายร่วมโครงการ “แคมป์เด็กหัวการค้า ปีที่ 11 จุดประกายความฝัน…ปั้นผู้นำธุรกิจ” บ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 3 ตุลาคม

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!