อาจารย์นักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่บริการวิชาการแบบบูรณาการ สร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แก้ปัญหาขยะมูลฝอย ก๊าซเรือนกระจก และ PM 2.5 สู่การส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ลดใช้พลังงาน เปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย เกิดห่วงโซ่คุณค่าไปยังกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิพงษ์ พุฒคำ หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจเด็กปั้นปุ๋ย ดำเนินการสาธิตระบบการผลิตปุ๋ย การใช้ระบบ loT (Internet of Things) การใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และการเก็บข้อมูล เพื่อยื่นขอรับรองการลดปริมาณคาร์บอนให้กับคนในชุมชน ที่โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน หมู่ที่ 3 อบต.หนองโก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ภายใต้ โครงการการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำผ่านการจัดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัจฉริยะจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 (ในปีแรกชุมชนทำกันเอง) โดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับทุนสนับสนุนโครงการบริการวิชาการแบบบูรณาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมและชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2567
ก่อนเริ่มโครงการในปีแรก (ปี 2565) พบปัญหาในพื้นที่ คือ เรื่องการจัดการขยะมูลฝอย ที่มีปริมาณมากถึง 2 ตันต่อวัน อีกทั้งมีวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรปนมาด้วย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดก๊าซเรือนกระจก และ PM 2.5 ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน อีกทั้งชาวบ้านพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหา เราเห็นถึงความตั้งใจของชุมชน เลยทำงานร่วมกับนิสิต ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เด็กปั้นปุ๋ย” ไปขอทุนจากภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด และ บริษัท น้ำตาลวังขนาย (มหาวัง) มาช่วย ได้มอบวัสดุที่เหลือใช้จากโรงงาน เอามาใช้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาในเรื่องของการใช้แรงงาน เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้แรงงานเยอะ แล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงวัย ต่อมาในปีที่สอง (ปี 2566) ใช้กระบวนการของลีน (LEAN) คือ ทำกระบวนการให้เล็กลง ใช้เวลาน้อยลง ประหยัดต้นทุนขึ้น เข้ามาช่วยในการจัดการปุ๋ยของโรงเรือน ในขณะเดียวกัน ก็ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อช่วยลดการใช้พลังงาน และทำให้พื้นที่เป็นลักษณะของการใช้พลังงานหมุนเวียน
สำหรับในปีที่สาม (2567) คือ ในปีนี้ ได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ลดเวลาทำงาน และยื่นขอการรับรองการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (LESS) ปรับระบบ LEAN ลดการสูญเสียเวลาในการผลิต และลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์ มีการใช้ระบบ IoT (Internet of Things) เช็คความชื้น รดน้ำ ลดเวลาดูแลระบบ และนำระบบไฟฟ้าพลังงานแสดงอาทิตย์เข้ามาใช้
จนกระทั่งได้ผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น ผลิตปุ๋ยได้ถึง 8,000 กิโลกรัม มีระบบ IoT และใช้ hand lift ทุ่นแรง ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 18 เท่า เมื่อเทียบกับปีแรก ลดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี ปุ๋ยที่ได้สามารถขายต่อให้กับกลุ่มวิสาหกิจที่ทำเกี่ยวกับผักอินทรีย์ด้วย ส่งผลให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตัวชุมชนอย่างเดียว ยังออกไปสู่ชุมชนรอบข้างอีกด้วย กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคคลทั่วไปและวิสาหกิจอื่น ๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงานและต่อยอดได้ และที่สำคัญ คือ ลดปัญหาการเผาวัสดุการเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้สารเคมี นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน