จากข่าวล่าสุด มที่มีการปนเปื้อนของสารเมทานอลในเหล้าเถื่อน ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมมีผู้เสียชีวิตหลายราย เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารเมทานอลในเหล้าเถื่อน และวิธีในการตรวจสอบกัน
ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และ คณาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลดังนี้
ทำไมเหล้าเถื่อน ถึงมีเมทานอลปน
– อาจเกิดจากความไม่รู้ หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็น เมทานอล ราคาถูกกว่า และเรียกว่า แอลกอฮอล์ เหมือนกัน นึกว่าตัวเดียวกัน หรือ อาจจะเป็นความเชื่อว่า การผสม เมทานอล ทำให้ฤทธิ์แรงขึ้น เมาเร็วขึ้น ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง
อันตรายของเมทานอล
– เมทานอล เมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็น ฟอร์มัลดีไฮด์ และ กรดฟอร์มิก ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษมาก การได้รับ เมทานอล ส่งผลต่อระบบประสาท ปวดศีรษะ มึนงง เหมือนเมาเหล้า ทำลายตับ ไต และอวัยวะอื่น ๆ อาการที่เด่นชัด คือ ทำให้ตาพร่ามัว ถึง ตาบอด ซึ่งอาจจะเพียงชั่วคราวถึงถาวร ถ้าได้รับในปริมาณมากพอ
ถ้าอยากตรวจว่า มี เมทานอล ปนมั้ย ทำยังไงได้บ้าง ทำได้ดังนี้
– ถ้าเกิดว่าเป็นสารเพียว ๆ จะตรวจสอบได้ง่ายมาก เพราะ เมทานอล มีกลิ่นเหม็นแสบจมูก ซึ่งต่างจาก เอทานอล การทดสอบง่าย ๆ สำหรับคนพอมีความรู้ทางเคมีอยู่บ้าง คือ การหาจุดเดือด เมทานอล จะมีจุดเดือดที่ 65 oC ซึ่งต่ำกว่า เอทานอล ที่มีจุดเดือดที่ 78 oC อีกวิธีหนึ่ง คือ การทดสอบด้วยไอโอดีนในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ ที่เรียกว่า ไอโอโดฟอร์มเทสต์ เอทานอล จะให้ตะกอนสีเหลือง แต่ เมทานอล ไม่ให้
– อย่างไรก็ตาม วิธีการที่กล่าวมาจะแยกความแตกต่างได้เฉพาะในกรณีที่เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ไม่สามารถระบุการปนเปื้อนของ เมทานอล ใน เอทานอล ได้ ถ้าจะเอาชัวร์ต้องส่งตรวจในแล็บ ด้วยวิธี GC หรือ NMR จะบอกได้แน่นอนว่า มี เมทานอล ปนเปื้อนหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้
คนทั่วไปมีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร
– ไม่นำ เมทานอล มาใช้ผสมเครื่องดื่ม สังเกตผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุสถานที่ผลิต เปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ และข้อมูลอื่น ๆ ถ้าเลือกจะดื่มสุราที่ไม่มีฉลาก ก็พึงระลึกว่า มีความเสี่ยง
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ