สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความประสงค์จะรับสมัครพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 1 อัตรา อัตราเงินเดือน 42,900 – 85,800 บาท (การพิจารณาอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของแต่ละบุคคล กำหนดให้พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ตามระเบียบของมหาวิทยาลัย) เพื่อปฏิบัติงานในฝ่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
1. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หรือ ปริญญาตรี ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาวิศวกรรมศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต หรือ สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือ หลายสาขาวิชาที่ส่วนงานต้นสันสังกัด พิจารณาว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติ
2. มีประสบการณ์ในการบริหารหน่วยงาน ไม่น้อยกว่า 5 ปี (มหาวิทยาลัยจะพิจารณาจากหนังสือรับรองประสบการณ์ในการบริหารหน่วยงาน และหนังสือรับรองอื่น ๆ ที่ระบุชื่อตำแหน่ง หรือ รายละเอียดตำแหน่งที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในการบริหารหน่วยงาน และระบุวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของตำแหน่งงานนั้น เพื่อแสดงช่วงเวลาประสบการณ์ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน)
3. มีคะแนนภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
4. หากเป็นชายต้องพ้นภาระทางทหาร หรือ ได้รับการผ่อนผัน หรือ ได้รับการยกเว้น
วิธีการคัดเลือก
3.1 การทดสอบกลางโดยมหาวิทยาลัย
(1) ประเมินคุณลักษณะและความเหมาะสมในการปฏิบัติงานสำหรับตำแหน่ง (ประเมินทดสอบทัศนคติและบุคลิกภาพ Personality Test และ ประเมินความถนัด Aptitude Test)
3.2 การทดสอบโดยส่วนงาน/หน่วยงาน
(1) ประเมินความรู้ภาษาไทยที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในตำแหน่ง
(2) ประเมินความรู้เฉพาะตำแหน่ง
(3) ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานเฉพาะตำแหน่ง (แผนพัฒนาหน่วยงาน)
(4) สัมภาษณ์
หลักฐานที่ใช้ในการรับสมัคร
1. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน นับถึงวันปิดรับสมัคร)
2. หลักฐานวุฒิการศึกษา ซึ่งระบุวันสำเร็จการศึกษา
3. ผลการทดสอบภาษาอังกฤษ ได้แก่ TOEIC, CULI-TEST, CU-TEP, IELTS หรือ TOEFL อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร
– กรณีเป็นบุคคลภายนอก ต้องมีผลคะแนนการสอบขั้นต่ำ ดังนี้
(1) คะแนน TOEIC ไม่น้อยกว่า 400 คะแนน (คะแนนเต็ม 990 คะแนน)
(2) คะแนน CULI-TEST ไม่น้อยกว่า 40 คะแนน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
(3) คะแนน CU-TEP ไม่น้อยกว่า 40 คะแนน (คะแนนเต็ม 120 คะแนน)
(4) คะแนน IELTS ไม่น้อยกว่า 4.0 คะแนน (คะแนนเต็ม 9.0 คะแนน)
(5) คะแนน TOEFL (PBT) ไม่น้อยกว่า 433 คะแนน (คะแนนเต็ม 677 คะแนน)
(6) คะแนน TOEFL (ITP) ไม่น้อยกว่า 433 คะแนน (คะแนนเต็ม 677 คะแนน)
(7) คะแนน TOEFL (iBT) ไม่น้อยกว่า 40 คะแนน (คะแนนเต็ม 120 คะแนน)
– กรณีเป็นผู้ปฏิบัติงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีสถานภาพข้าราชการ/ลูกจ้างประจำเงินงบประมาณ/ลูกจ้างประจำเงินนอกงบประมาณ/พนักงานมหาวิทยาลัย/พนักงานวิสามัญ/พนักงาน รปภ. มหาวิทยาลัยรับพิจารณาทุกระดับคะแนน
4. หนังสือรับรองประสบการณ์ในการบริหารหน่วยงาน และหนังสือรับรองอื่น ๆ
5. หนังสือแจ้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยว่า ตนประสงค์จะสมัครสอบคัดเลือก กรณีเป็นผู้ปฏิบัติงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น (ถ้ามี) (สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างได้จาก www.hrm.chula.ac.th/newhrm/การสรรหาและคัดเลือก)
6. สำเนา กม.1 (กรณีข้าราชการ)
7. เอกสารการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล (ถ้ามี)
8. เอกสารผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือ ได้รับการยกเว้นทางทหาร
9. สำเนาทะเบียนบ้าน และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
10. ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่า ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยโรคที่มีลักษณะต้องห้ามเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งออกให้ไม่เกิน 1 เดือน (กรณีผู้สมัครสอบผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ให้นำเอกสารมายื่นในวันที่มารายงานตัว โดยสามารถ Download แบบฟอร์มได้ที่ https://www.hrm.chula.ac.th/newhrm/การสรรหาและคัดเลือก/)
*หมายเหตุ หลักฐานตามข้อ 1-8 ให้แนบไฟล์สำเนาเอกสารผ่านทางเว็บไซต์ พร้อมใบสมัคร ส่วนหลักฐานตามข้อ 9-10 ให้แนบไฟล์สำเนาเอกสารผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อผู้สมัครผ่านการคัดเลือกแล้ว
เงื่อนไขอื่น ๆ
1. ในกรณีที่บุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร มหาวิทยาลัยจะประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้
(1) สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ มอบหมายงาน และระบุเป้าหมายที่ต้องการ
(2) สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ติดตามดูแลความคืบหน้า 6 เดือน
(3) สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มประเมินผลการปฏิบัติงานเมื่อครบ 1 ปี
(4) หากไม่สามารถปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศจะให้โอกาสปฏิบัติงานอีก 90 วัน
(5) สำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเมินผลการปฏิบัติงานอีกครั้ง
2. กรณีที่มหาวิทยาลัยประเมินผลการปฏิบัติงานแล้ว ปรากฏว่า บุคลากรยังไม่สามารถปฏิบัติงานตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ บุคลากรยินยอมให้มหาวิทยาลัยถอดถอนจากตำแหน่งบริหาร และงดจ่ายเงินประจำตำแหน่งบริหาร โดยปรับเปลี่ยนเป็น P ติดตัว กระบอกเงินเดือน A และยินยอมให้โยกย้าย หรือ เปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ ข้อตกลงภาระงาน ตลอดจนสังกัด หรือ สถานที่ปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม หรือ ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
3. บุคลากรผู้ใดไม่ยินยอมตามข้อ 2 มหาวิทยาลัยจะมีคำสั่งให้พนักงานมหาวิทยาลัยผู้นั้น พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย
4. ก่อนเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งบริหาร ให้บุคลากรลงนามในหนังสือยินยอม (Sign of Consent) เพื่อรับทราบและยอมรับเงื่อนไขการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารดังกล่าว
5. ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องเข้ารับการอบรมในโครงการอบรมการปฏิบัติงานด้วยระบบ CU-ERP ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากบรรจุจ้าง และ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานของพนักงานมหาวิทยาลัย
6. มหาวิทยาลัยจะบรรจุผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น
ความรู้ความสามารถประจำตำแหน่ง
1. มีความสามารถในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
2. มีความสามารถในการออกแบบกระบวนงาน/ระบบงาน (Work Systems) ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหน่วยงาน
3. มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สรุป แก้ปัญหาในงานได้เป็นอย่างดี
4. มีความสามารถในการควบคุม วางแผนทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากร และด้านการทำงาน
5. มีความสามารถในการขับเคลื่อนผลผลิตของหน่วยงานให้สำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่ส่วนงานวางไว้
6. มีความสามารถในการนำเทคนิค วิธีการ ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการบริหารงาน
7. มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่องานในหน้าที่
8. มีความรอบรู้ในกฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงาน
9. มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารโปรแกรมประเภท ERP
ลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ
ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายภายในสำนักงานฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการวางแผน บริหารงาน บริหารทรัพยากรบุคคล บริหารทรัพยากรอื่น ๆ และงบประมาณ โดยกำกับ ควบคุม รับผิดชอบ กลั่นกรอง ตรวจสอบ แนะนำ ปรับปรุง พัฒนา แก้ไขตัดสินใจ แก้ปัญหาทุกเรื่องของฝ่ายฯ ซึ่งมีหน้าที่บังคับบัญชาหัวหน้างาน หัวหน้าหน่วย และบุคลากรในฝ่ายฯ รวมถึงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการปฏิบัติงาน
1.1 ตรวจสอบ และวิเคราะห์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
1.2 กรณีระบบมีปัญหา ต้องสามารถวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพื่อให้ระบบงานสามารถกลับมาให้บริการได้เร็วที่สุด รวมทั้งวางแนวทางเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของปัญหาในอนาคต
1.3 ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำรายงานเกี่ยวกับคุณลักษณะของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการออกแบบ และพัฒนาระบบงานที่มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
2. ด้านการวางแผน
2.1 วางแผน หรือ มีส่วนร่วมในการวางแผนการทำงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดให้เชื่อมโยงกับนโยบาย พันธกิจ แผนยุทธศาสตร์ ของหน่วยงาน
2.2 ติดตาม และประเมินผล เพื่อให้มั่นใจว่าแผนงานที่วางไว้มีความคืบหน้า และ/หรือ การดำเนินงานที่เหมาะสม และเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
2.3 ประสานงานในการวางแผนร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายที่กำหนด
3. ด้านการประสานงาน
3.1 พัฒนาความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย ให้สอดคล้องกับเป้าหมายร่วมของหน่วยงาน และให้ความสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกในทีมงาน เพื่อให้ได้ผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
3.2 ให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ด้านการบริการ
4.1 ให้คำปรึกษา และคำแนะนำ แก่หน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบได้อย่างเชี่ยวชาญ
4.2 จัดทำเอกสาร คู่มือ เผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับหน่วยงานต่าง ๆ
กำหนดการรับสมัครและคัดเลือก
ผู้ประสงค์จะสมัครเข้ารับการคัดเลือก ให้สมัครผ่านทาง https://careers.chula.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-0362 หรือที่ อีเมล Paphitchaya.w@chula.ac.th ตั้งแต่บัดนี้ ถึง วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ในวันและเวลาทำการ (08.00 – 17.00 น.)
อ้างอิงและสมัครงานได้ที่ https://shorturl.asia/gS8Di