มจธ. ประกาศรับสมัครคัดเลือก “ทุนรุกขพิทยพัฒน์” ระดับมหาบัณฑิต ปีการศึกษา 2567 เปิดรับสมัครแล้ว – 15 ตุลาคม นี้

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกาศรับสมัครคัดเลือก “ทุนรุกขพิทยพัฒน์” ระดับมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2567 เปิดรับสมัครแล้ว ถึง 15 ตุลาคม 2567

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ Forschungszentrum Jülich (Jülich) โดย Institute of Bio – and Geosciences Plant Sciences (IBG-2) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยในสาขา Plant Phenotyping and Sustainable Bioeconomy ครอบคลุมงานทางด้านเกษตรแม่นยำ อาทิ ความร่วมมือในการศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ (Phenotype) จีโนไทป์ (Genotype) สรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของรากสะสมอาหารของมันสำปะหลัง โดยได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2561

เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมตามข้อตกลง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สถาบันวิจัย Jülich จึงร่วมดำเนินการให้ทุนแก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โดยได้รับพระราชทานชื่อ “ทุนรุกขพิทยพัฒน์” จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2565 – 2568 โดยให้ทุนแก่นักศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 3 ทุนต่อปี และ ระดับปริญญาโท จำนวน 3 ทุนต่อปี โดยเฉพาะด้านพืชศาสตร์ (Plant Science) วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic Engineering and Automation System) และ สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)

วัตถุประสงค์ของทุน
1. เพื่อสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่มีศักยภาพ ความสามารถ และมีความใฝ่รู้ มีทุนการศึกษาตลอดระยะเวลาการศึกษาที่ระบุในหลักสูตร และภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
2. เสริมสร้างความร่วมมือวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัย Jülich เพื่อพัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยในสาขาการศึกษาเทคโนโลยีข้อมูลฟีโนไทป์ของพืช (Plant Phenotyping Technologies) และ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพ (Sustainable Bioeconomy) และ สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยมหาวิทยาลัย โดยสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับพันธมิตร และพัฒนามุ่งสู่ความเป็นสากล

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครขอรับทุน จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. คุณสมบัติทั่วไป
(1) เป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ประพฤติตน หรือ เคยประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสีย
(2) เป็นผู้ที่พร้อมและยินดีที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านวิชาการ สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
(3) เป็นผู้ที่สามารถศึกษาให้สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาการศึกษาสูงสุดของหลักสูตรที่นักศึกษาเข้ารับการศึกษา
(4) เป็นผู้ที่สามารถศึกษาแบบเต็มเวลา ภายในระยะเวลาการศึกษาของหลักสูตรที่นักศึกษาเข้าศึกษา
(5) ผู้ได้รับทุนจะต้องไม่รับทุนอื่นซ้อนกับทุนนี้ กรณีซ้อนกับทุนอื่น ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการ
(6) คุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
2. คุณสมบัติด้านการศึกษา
– ผู้สมัครประเภท Active recruitment
(1) ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ในระดับปริญญาตรี และได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ
(2) เป็นผู้มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 3.25 และได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท หรือ
(3) กรณี คะแนนเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 3.25 ต้องมีผลงานเชิงสร้างสรรค์ หรือ นวัตกรรมที่สอดคล้อง หรือ สัมพันธ์กับหลักสูตรที่เลือกศึกษา เป็นที่ประจักษ์
(4) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่ สำนักงานกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง ก่อนการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 และจะลงนามสัญญารับทุนได้ต่อเมื่อมีใบรับรองการจบการศึกษา
(5) ผู้สมัครต้องไม่มีสถานภาพเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท หรือ ผู้สมัครต้องไม่เคยเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาก่อน
– ผู้สมัครประเภทนักศึกษาปัจจุบัน
(1) เป็นผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 1 ภาคการศึกษาที่ 2 โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมในภาคการศึกษาที่ 1 ไม่น้อยกว่า 3.50 และจะได้ลงนามสัญญาต่อเมื่อมีใบรับรองผลการศึกษา
3. ผู้สมัครต้องสามารถแสดงออกถึงเหตุผล และความจำเป็น และความรู้ความเข้าใจในระดับที่น่าพอใจในสาขาวิชาที่จะทำวิทยานิพนธ์ โดยการประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ และจากเรียงความที่เขียนด้วยตัวเอง (Statement of Purpose) ความยาวประมาณ 600 คำ
4. ผู้สมัครต้องสามารถทำงานวิจัย และวิทยานิพนธ์ด้านการศึกษาเทคโนโลยีข้อมูลฟีโนไทป์ของพืช (Plant Phenotyping Technologies) และ สาขาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Bioeconomy) ซึ่งครอบคลุมงานวิจัย ตัวอย่างเช่น
(1) เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรดิจิตัล (Precision, Smart and Digital Agriculture)
(2) การศึกษาข้อมูลฟีโนไทป์ (Phenotype) และ จีโนไทป์ (Genotype) ของพืช และการพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อการศึกษาการเจริญพัฒนาของพืช (Automation Development)
(3) วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics Engineering and Automation System)
(4) สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Bioeconomy)
5. ผู้สมัครที่เคยทำวิทยานิพนธ์ หรือ ทำวิจัย หรือ เลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์ ภายใต้กลุ่มวิจัยที่มีผลงาน หรือ มีศักยภาพที่จะสร้างผลงานที่มีความหมายต่อเศรษฐกิจและสังคม จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
6. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองว่า เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการศึกษา หรือ การทำงาน และมีเจตคติที่ดี จากอาจารย์ที่ปรึกษาที่เคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ หรือ วิทยานิพนธ์ หรือ จากผู้บังคับบัญชากรณีที่เคยทำงาน
7. ผู้สมัครต้องมีหนังสือรับรองจากอาจารย์ที่จะรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการรับทุน
8. ผู้สมัครสามารถส่งเอกสารเพิ่มเติมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานวิจัยและด้านวิชาการอื่นเพื่อสนับสนุนได้
9. ผู้สมัครจะต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองตนเองว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามประกาศจริง และจะต้องแสดงหลักฐานในการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน หากเอกสารไม่ครบภายในระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร จะถือว่าขาดคุณสมบัติ ในกรณีที่มีความผิดพลาด อันเกิดจากผู้สมัคร ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือ คุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศ อันมีผลทำให้ผู้สมัครไม่มีสิทธิสมัครรับทุน ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการสอบคัดเลือก และให้ถือว่าการรับสมัคร และการได้เข้ารับการคัดเลือก เป็นโมฆะสำหรับผู้นั้น และจะใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ กับมหาวิทยาลัยไม่ได้ทั้งสิ้น

หากมีการตรวจสอบเอกสาร หรือ คุณสมบัติในภายหลัง ปรากฏว่า ผู้ได้รับทุนรายใดไม่มีคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม หรือ ขาดคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งตามประกาศ ให้ถือว่าผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการสมัครรับทุนในครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น และไม่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกทุนการศึกษา และให้ผู้ได้รับทุนนั้นชดใช้เงินทุนการศึกษาคืนแก่มหาวิทยาลัยตามที่กำหนด

อนึ่งหากมหาวิทยาลัยตรวจสอบแล้ว พบว่า ผู้สมัครรายใดมีเจตนาปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม หรือ ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จนั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในการสมัครรับทุนกับมหาวิทยาลัย จะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และมหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ปฏิทินกำหนดการรับสมัครนักศึกษา ทุนรุกขพิทยพัฒน์ ระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ภาคการศึกษาที่ 2/2567 (เริ่มการศึกษาเดือนมกราคม 2568)

ผู้ได้รับทุนจะได้รับเงินสนับสนุน จากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย Jülich ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยสนับสนุนเงินค่าเล่าเรียน (ค่าหน่วยกิต ค่าบำรุงการศึกษา และค่าประกันอุบัติเหตุ) ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้
2. มหาวิทยาลัยสนับสนุนค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 8,000 บาท ภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาขอหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลารับทุนได้
3. ผู้ได้รับทุนอาจขอรับเงินสนับสนุนความก้าวหน้างานวิจัยเพิ่มเติม หากมีผลงานบทความวิจัย โดยเป็นผู้เขียนชื่อแรก (First Author) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาต ที่ปรากฏใน
(1) ฐานข้อมูล Web of Science และ
(2) Quartile 1 หรือ Quartile 2 ของฐานข้อมูล Scopus เมื่อพิจารณาจาก CiteScore ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ที่ประกาศล่าสุดในวันที่ส่งผลงานวิจัยตีพิมพ์

โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผลงานบทความวิจัยที่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการ (Acceptance Letter, Acceptance Email) จาก วารสารวิชาการระดับนานาชาติใน Quartile 1 จำนวน 10,000 บาท ต่อ 1 บทความ และ ใน Quartile 2 จำนวน 5,000 บาท ต่อ 1 บทความ โดยพิจารณาหลังจากที่ได้รับแจ้งผลการตอบรับให้ตีพิมพ์ ซึ่งผู้ได้รับทุนต้องดำเนินการส่งผลงานวิจัยแก่กลุ่มงานช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการตอบรับให้ตีพิมพ์ พร้อมแบบฟอร์มที่กำหนดอย่างครบถ้วน และจะไม่พิจารณาย้อนหลัง หากเกินกว่าวันที่กำหนด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะให้เงินสนับสนุนดังกล่าวภายในระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรเท่านั้น
4. มหาวิทยาลัยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารชั้นประหยัด ค่าหนังสือเดินทาง และค่าวีซ่า ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน 65,000 บาท ในการเดินทางไปแลกเปลี่ยน หรือ ทำวิจัยระยะสั้น ณ สถาบันวิจัย Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
5. สถาบันวิจัย Jülich สนับสนุนค่าใช้จ่ายกรณีเดินทางไปแลกเปลี่ยน หรือ ทำวิจัยระยะสั้น ณ สถาบันวิจัย Jülich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 1 ครั้ง ไม่เกิน 3 เดือน โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายให้เป็นไปตามที่สถาบันวิจัย Jülich กำหนด ดังนี้
(1) ค่าครองชีพเหมาจ่ายรายเดือน ในระยะเวลาที่แลกเปลี่ยน หรือ ทำวิจัยระยะสั้น ไม่เกินเดือนละ 2,000 ยูโร (หลังหักภาษีและประกันแล้ว)
(2) สนับสนุนที่พักอาศัยในระยะเวลาที่แลกเปลี่ยน
(3) ค่าประกันการเดินทาง ค่าประกันสุขภาพ
กรณี ผู้ได้รับทุนมีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปทำวิจัยระยะสั้น ภายหลังจากครบระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรแล้ว ผู้ได้รับทุนจะต้องเสนอแผนการเดินทาง และงบประมาณค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะสั้นดังกล่าวต่อมหาวิทยาลัย ภายในกำหนดระยะเวลาตามแผนการศึกษาของหลักสูตรก่อน จึงจะได้รับค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยระยะสั้นดังกล่าว

หากผู้ได้รับทุนมีความจำเป็นต้องใช้เวลาทำวิจัยระยะสั้นเกินกว่า 3 เดือน จะต้องขออนุมัติ และได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัยก่อน ทั้งนี้ ผู้ได้รับทุนจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังจากระยะเวลา 3 เดือน นั้นเอง

*หมายเหตุ
1. กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
2. กรณีนักศึกษาใหม่ (Active Recruitment) สมัครผ่านเว็บไซต์ https://join.kmutt.ac.th ระดับดุษฎีบัณฑิต โทร. 02-470-8425 ระดับมหาบัณฑิต โทร. 02-470-8367 และนักศึกษาต่างชาติ โทร. 02-470-8426
3. กรณีนักศึกษาเก่า หรือ นักศึกษาปัจจุบัน (Non – Active Recruitment) สมัครตรง ผ่านทางสำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร
คุณนลินี เพ็งแป้น อีเมล nalinee.phe@kmutt.ac.th โทร. 02-470-9621 หรือ คุณศิริภา รัตนสิทธิ์ อีเมล siripha.rat@kmutt.ac.th โทร. 02-470-9618 (*การส่งใบสมัครทางอีเมล หากไม่ได้รับอีเมลตอบกลับภายใน 2 วันทำการโปรดติดต่อกลับมาอีกครั้ง)
4. นักศึกษาต้องติดต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษาในสาขาวิชาที่ประสงค์สมัครเข้าศึกษา และต้องยื่นเอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ภายในเวลาที่กำหนด โดยผู้สมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องยื่นผลคะแนนภาษาอังกฤษ (TETET หรือ TOEFL iBT หรือ IELTS) ก่อนวันปิดรับสมัคร เพื่อใช้เป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาคุณสมบัติในการรับเข้าศึกษา ตามประกาศ มจธ.ฯ (สำหรับ คะแนน TETET สามารถสมัครสอบผ่านเว็บไซต์ของคณะศิลปศาสตร์ ได้ที่ https://sola.kmutt.ac.th/tetet) ทั้งนี้หากเอกสารไม่ครบถ้วน จะถือว่าไม่มีผลในการสมัครขอรับทุนแต่อย่างใด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.asia/Lanm5

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/Z0Aqj

RANDOM

ทุนธนาคารกรุงเทพ ระดับปริญญาโท สำหรับพนักงานละบุคคลภายนอก จำนวน 25 ทุน ศึกษาต่อสถาบันการศึกษาต่างประเทศและในประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) ประจำปี 2567 ยื่นใบสมัครขอรับทุนได้ถึง 16 เม.ย. 67

NEWS

มูลนิธิเอ็มพลัส ร่วมกับ สสส. ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานร่วมประกวดคลิปวิดีโอ หัวข้อ “ภารกิจ ยุติเอดส์ ไม่ติด ไม่ตีตรา” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 15 พ.ย. 67

“ส.ส.ดร๊าฟ” ยื่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ รื้อ ลด ปลด สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ ต่อประธานสภา เชื่อหากผ่านสภาฯ จะเป็นประโยชน์ต่อ ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติต่อไป

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!