พรบ.ภาษีที่ดิน คำตอบ หรือ ทางตัน “การอนุรักษ์เสือปลา” สัตว์ป่าคุ้มครองและใกล้สูญพันธุ์ไปจากผืนแผ่นดินไทย

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เสือปลา 1 ใน 9 สัตว์ตระกูลแมวที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์ุจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการล่า การบุกรุกพื้นที่รกร้าง ทำให้พื้นที่หากินและแหล่งอาหารของเสือปลาลดลง ส่งผลให้โอกาสในการขยายพันธุ์ลดลง รวมถึงเกิดภาวะเลือดชิดที่จะส่งผลต่อคุณภาพประชากรเสือปลารุ่นถัดไป ซึ่งนำไปสู่การสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้ในอนาคต จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย โครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ต้องการสร้างฐานข้อมูลเสือปลาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งการปรากฏ ขนาดประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากร อัตราการรอดชีวิต รวมถึงภัยคุกคามของเสือปลา เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์เสือปลาในประเทศไทย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผศ.ดร.นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัย จาก สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ การเก็บตัวอย่างมูล และการสอบถามจากคนในพื้นที่ ในช่วงปี 2562 จนถึงปัจจุบัน บริเวณเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่โดยรอบ เป็นพื้นที่ที่มีเสือปลาอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศ ขณะที่ การเก็บข้อมูลในพื้นที่ธรรมชาติอื่น ๆ ที่เคยมีการพบเสือปลามาก่อนในอดีต ทั้งในเขตชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และ พื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง และสงขลา กลับพบการปรากฏตัวของเสือปลาน้อยมาก หรือ บางแห่งไม่เจอเสือปลาเลย

ในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ (สมุทรสาคร) เราได้ภาพถ่ายในจุดที่คาดว่าจะเป็นที่หากินแหล่งสุดท้ายของเขา ขณะที่ ไม่ได้ภาพจากทางภาคตะวันออกแต่อย่างใด แม้จะติดตั้งกล้องมาแล้วครึ่งปี สิ่งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงว่า พื้นที่เขาสามร้อยยอด อาจเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของเสือปลาในไทย แต่นอกเหนือจากข้อสรุปในเบื้องต้นนี้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ เราพบร่องรอยการดำรงอยู่ของเสือปลาในพื้นที่รกร้างของชาวบ้านหลายแปลง หลายพื้นที่”

ผศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า เนื่องจากเสือปลาเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินสัตว์ได้หลายชนิด หากพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำและมีอาหารของมัน สัตว์ชนิดนี้ก็จะสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ ซึ่งกล้องที่เข้าไปติดในสวนปาล์มและสวนมะพร้าวเก่า ที่เจ้าของปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์หลายแห่ง สามารถเก็บภาพและยืนยันว่า เป็นถิ่นหากินและอยู่อาศัยของเสือปลาได้

“คนที่จะกำหนดทิศทางของที่ดินแปลงนั้นว่าจะปล่อยไว้ หรือ นำมาพัฒนา คือ ตัวเจ้าของที่ดิน ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้ก็คือ หากเราพบเสือปลาอยู่ในที่ดินแปลงใด เราก็จะมีการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของที่ดินแต่ละราย เพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจว่า ที่ดินของเขานั้น คือ ถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด รวมถึงเสือปลาที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย ซึ่งจากการพูดคุย พบว่า ณ ปัจจุบันเจ้าของที่เขายังไม่มีโครงการหรือแผนในการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ไปในเชิงพาณิชย์ แต่การประกาศใช้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ อาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่รกร้างเหล่านั้น เพื่อลดภาระจากการเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า หรือ ขายต่อให้กับนายทุนรายอื่น ซึ่งจะทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงเสือปลาที่จะต้องหายไปจากพื้นที่แห่งนั้น

สำหรับแนวทางในการรักษาไว้ ซึ่งพื้นที่อาศัยที่เหมาะกับเสือปลาในพื้นที่ของชาวบ้านหรือภาคเอกชนนั้น ผศ.ดร.นฤมล ได้ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลีย ที่มีการจ่ายเงินให้กับคนที่ครอบครองพื้นที่ ซึ่งพบว่า มีความสำคัญต่อสัตว์ป่า หรือ พืชพื้นถิ่น ในขณะที่ สิ่งที่พอเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยก็อาจจะอยู่ในรูปแบบของมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อน หรือ ยกเว้นภาษี ให้กับเจ้าของที่ดินที่ยินยอมจะปล่อยพื้นที่นั้น ให้เป็นพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า

ในส่วนนี้ คือ หน้าที่ของภาครัฐ ที่ต้องมีการประชุมหารือกัน ตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึง ระดับกระทรวง เพื่อกำหนดนโยบายในการจัดการกับพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม พอจะจูงใจให้เจ้าของที่ดินเลือกที่จะปล่อยพื้นที่แปลงนั้น ให้สัตว์ที่สำคัญหลายชนิดสามารถอาศัยและดำรงชีวิต” ผศ.ดร.นฤมล สรุป

สำหรับการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำ ของ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. ประกอบด้วย งานวิจัยหลายโครงการที่ดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในพื้นที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่โดยรอบ” ในขณะที่ โครงการการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุน จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ องค์การสวนสัตว์ เป็นการดำเนินการในพื้นที่ชุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดพัทลุง และสงขลา ซึ่งทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายร่วมกัน คือ นำไปสู่การทำให้เกิดแผนการจัดการการอนุรักษ์เสือปลาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!