KOSEN KMUTT โชว์ผลงานนักศึกษา เตรียมฝึกงานบริษัทพันธมิตร หนุนสร้างวิศวกรนักปฏิบัติ ตั้งเป้าผลิตบุคลากรฝีมือดีออกสู่ตลาดงาน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“อุปกรณ์ตรวจการรั่วของถุงยางอนามัย” “เครื่องบรรจุลูกเทนนิสลงกระป๋อง” “เครื่องประกอบกล่องกระดาษลูกฟูก” เหล่านี้ คือ บางส่วนของโมเดลชิ้นงานที่เกิดจากไอเดียของนักศึกษา KOSEN KMUTT ที่จัดแสดงในกิจกรรมโชว์เคสจากนักศึกษา KOSEN KMUTT รุ่นที่ 1-2 ในงาน “KOSEN KMUTT Opportunity Day 2024” Showing Skills, Finding Opportunity” เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งของการจัดงานนี้ เพื่อให้นักศึกษา KOSEN KMUTT ได้พบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของกระทรวง อว. ในการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม และสามารถต่อยอดความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนากำลังคนของประเทศ

นักเรียนโคเซ็น มจธ. รุ่นแรก ที่เข้ามาเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2563 กำลังจะผ่านขั้นตอนสำคัญของหลักสูตร คือ ฝึกปฏิบัติงานจริงกับบริษัทเอกชนชั้นนำ ตลอดเทอมที่ 2 ของ การเรียนปีที่ 5 ที่เป็นปีสุดท้ายของหลักสูตร ดังนั้น เป้าหมายของงานนี้ จึงเป็นทั้งการนำเสนอผลงาน หรือ โปรเจกต์ของนักศึกษา KOSEN KMUTT รุ่นที่ 1-2 รวมถึงการออกบูธของบริษัทชั้นนำกว่า 20 บริษัท ที่สนใจจะรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานในบริษัทของตนเอง และโอกาสในการสร้างเครือข่ายระหว่างหลักสูตรวิศวกรรมอัตโนมัติ (นานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัดกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางการศึกษาที่หลากหลายในอนาคต”

ด้าน Ms. Maki Kawamura Minister Counsellor, Representative of the Embassy of Japan in Thailand ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง KOSEN หน่วยงานของไทย เพื่อพัฒนาหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ พัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ สร้างประโยชน์กับสังคมได้ เปรียบได้กับการมีสถาบัน เพื่อสร้าง “คุณหมอของสังคม” (Social doctor) นั่นเอง

ทางด้าน รศ.ดร.พจน์ ตั้งงามจิตต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ในฐานะประธานสาขาวิชาวิศวกรรมอัตโนมัติ กล่าวว่า จากจุดเด่นของหลักสูตรนี้ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่เขาได้รับการฝึกฝนบ่มเพาะมาตั้งแต่ ชั้นปี 1 (เทียบเท่า ม.4) จนถึง ปี 5 (เทียบเท่าปริญญาตรี ปี 2) ทำให้มั่นใจได้ว่าการฝึกงานของน้อง ๆ จะเป็นประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน

“นอกจากจะได้โปรเจกต์ที่เข้าไปแก้ปัญหาให้กับบริษัท หรือ เป็นข้อมูลใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการขั้นต่อไปของบริษัทในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ยังจะได้ไอเดียจากนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการช่วยพัฒนางานให้ได้ ส่วนตัวนักศึกษาเอง ก็จะเป็น 1 เทอม ของการฝึกงานแบบ WiL (Work-integrated Learning) ที่ได้ทั้งประสบการณ์จากการทำงานหน้างานจริง ๆ เรียนรู้จากคนทำงานตัวจริง อีกทั้งเป็นข้อมูลประกอบการเลือกเส้นทางอาชีพของเขาว่า จะกลับมาเรียนต่ออีก 1.5-2 ปี เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานก่อนเพื่อนรุ่นเดียวกัน 2 ปี”

นางสาวนลิน พิจิตกำเนิด หรือ น้องนะโม หนึ่งในนักศึกษา KOSEN KMUTT ปี 5 ที่นำเสนอผลงาน “อุปกรณ์ประกอบกล่องกระดาษเพื่อใช้กับบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยลดการใช้แรงงานคนในงานลักษณะที่ต้องทำซ้ำ ๆ และมีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น” กล่าวว่า หลักสูตรนี้ได้ช่วยพัฒนาตนเองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการเรียน และการใช้ชีวิต

“ที่นี่จะมีโปรเจกต์ให้ทำ ตั้งแต่ปี 1 โดยเราต้องคิดเองตั้งแต่ต้นว่าจะทำอย่างไร กระบวนการจะเป็นแบบไหน ซึ่งสิ่งนี้ช่วยจัดลำดับความคิดในการทำงานของเราให้เป็นระบบมากขึ้น พร้อมยังเป็นการฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นไปพร้อม ๆ กัน และที่สำคัญ คือ เป็นหลักสูตรที่ทำให้ทุกคนเคารพและยอมรับความคิดเห็นของกันและกัน สามารถนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนไอเดียและมุมมองกับเพื่อน ๆ และอาจารย์ทุกท่านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับคนที่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นวิศวกรจริง ๆ ที่นี่คือทางเลือกที่ดีมาก ๆ เพราะทั้งตัวหลักสูตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงคนรอบตัว จะช่วยผลักดันให้เราพุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นได้”

RANDOM

‘ดรามา’ เหมาเครื่องบินส่งนักกีฬาคนพิการไทยลุยศึกอาเซียนพาราเกมส์ที่กัมพูชาแล้ว “มีปัญหา” เป็นอุทาหรณ์ “ราคาถูกต้องอดทน” ด้านเลขาพาราลิมปิกไทย ขอชี้แจงบ้าง หลังโดนวิพากษ์ในการตัดสินใจหนนี้ ว่าดำเนินการเหมาะสมแล้ว

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!