ทีมวิจัยราชภัฏบุรีรัมย์ ฟื้นฟูข้าวเม่าด้วยนวัตกรรม รากเหง้าจากภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์แห่งอนาคต สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“ข้าวเม่า” เป็นอาหารว่างที่มีรากเหง้ามาจากภูมิปัญญาของชาวนาไทย ซึ่งสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน โดยการผลิตข้าวเม่าแต่เดิม เป็นการทำในครอบครัว แต่ในปัจจุบัน กลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ก้าวไปอีกขั้นในการนำภูมิปัญญาดั้งเดิม มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและหลากหลาย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ กลุ่มฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการขยายตลาดจากระดับชุมชนไปสู่ระดับภูมิภาค แม้ว่าจุดเด่นของการผลิตข้าวเม่าในพื้นที่นี้ คือ สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี ซึ่งต่างจากพื้นที่อื่น แต่ยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนากระบวนการผลิต ที่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแรงงานแบบดั้งเดิม ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และ ทีมวิจัยจากโครงการการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่สำหรับธุรกิจข้าวเม่านางรอง พ.ศ. 2565 ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า จากโจทย์เบื้องต้นจึงได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อช่วยเหลือและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการเข้าไปเก็บข้อมูลและพูดคุยกับคนในชุมชน พบว่า ปัญหาสำคัญนอกจากกระบวนการผลิตที่ยังคงพึ่งพาแรงงานดั้งเดิม คือ ปัญหาด้านสุขภาพของชาวบ้าน เนื่องจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้แรงงานหนัก และการสูดควันจากการคั่วข้าวเม่า รวมทั้งชุมชนยังขาดแคลนแรงงาน และไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า

สอดคล้องกับ นางทูล พรหมพนัด หนึ่งในนวัตกรผู้ผลิตข้าวเม่า เล่าว่า เมื่อก่อนต้องใช้แรงงานขนฟืน เพื่อมาผลิตข้าวเม่า ทำให้ปวดหลัง ผลจากการใช้ฟืนในการคั่วข้าวเม่า ทำให้เกิดควันจำนวนมาก ทำให้หายใจลำบาก ประกอบกับ มีจำนวนผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตลดลง

“บางวันแรงงานบางคนต้องหยุดงาน เพราะสูดดมควันเยอะเกินไป นอกจากนี้ ในชุมชนมีผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้การผลิตเริ่มลดลง หลายคนแก่แล้ว ทำงานหนักไม่ไหว และไม่มีใครเข้ามาสืบทอดต่อ ทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตข้าวเม่าเหลือน้อยมาก”

เครื่องทำข้าวเม่าต้นแบบ

ดร.เชาวลิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจยังพบว่า โอกาสทางการตลาดของข้าวเม่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กำลังการผลิตลดลง ทำให้ทีมวิจัยเข้ามาช่วยในการพัฒนาเครื่องรีดข้าวเม่า และเตาไฟแบบใหม่ที่ประหยัดฟืนและลดควัน ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ผลิตสามารทำงานได้สะดวกขึ้น ลดผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ได้มากขึ้น เช่น ข้าวเม่าลูกชิ้นทอด ข้าวเม่าซีเรียล เป็นต้น

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวเม่านั้น ไม่ใช่แค่การเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยให้ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าได้อย่างปลอดภัย และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เราต้องการให้ชุมชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบันได้ ซึ่งนั่นหมายถึง การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ทั้งในแง่ของรสชาติและสุขภาพ

ปัจจุบัน กลุ่มข้าวเม่าฯ มีการขยายตลาดในแพลตฟอร์มออนไลน์ และการออกบูธในงานต่าง ๆ ทำให้ยอดขายและการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยในการขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตั้งแต่ใช้เตาใหม่ การทำข้าวเม่าก็ง่ายขึ้น ไม่มีควัน สุขภาพคนทำก็ดีขึ้น เมื่อก่อนเราทำข้าวเม่าแบบธรรมดาขาย แต่ตอนนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น ลูกชิ้นข้าวเม่าทอด ซึ่งได้รับความนิยมมาก และมีการออกบูธในงานต่าง ๆ มีการขายออนไลน์จากที่อาจารย์สอนการใช้โซเชียลมีเดียในการโปรโมต ทำให้มีลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และสินค้าข้าวเม่าเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับไปยังจังหวัดที่มีการจัดเทศกาลกินข้าวเม่า ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายได้รู้จักข้าวเม่ามากขึ้น และเป็นกุศโลบายในการรวมตัวกันของญาติพี่น้องในชุมชน เป็นการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน

การพัฒนาการผลิตข้าวเม่าในชุมชนนางรอง จึงถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน นวัตกรรมที่นำมาใช้ในการผลิตไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของชาวบ้าน แต่ยังช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น

RANDOM

สาธารณสุข ม.มหิดล เชิญชวนนิสิต นักศึกษา ด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศ ร่วมแข่งขัน “Mahidol Public Health Hackathon Contest” ชิงถ้วยพระราชทาน กรมสมเด็จพระเทพฯ และเงินรางวัลรวม 135,000 บาท หมดเขตสมัครแข่งขัน 24 ตุลาคม นี้

สจล. หารือ ชุมชน แนะ 2 ทางเลือก “อุโมงค์รถวิ่ง” หรือ “เสาเดี่ยวตรงเกาะกลางมอเตอร์เวย์” ตัวเลือกการออกแบบโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลดผลกระทบชุมชน ไม่ต้องเวนคืน แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

NEWS

มูลนิธิเอ็มพลัส ร่วมกับ สสส. ชวนน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานร่วมประกวดคลิปวิดีโอ หัวข้อ “ภารกิจ ยุติเอดส์ ไม่ติด ไม่ตีตรา” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 15 พ.ย. 67

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!