นักศึกษา FIBO ชั้นปีที่ 2 โชว์กึ๋น ใช้ประโยชน์จาก AI เปลี่ยน CCTV เป็นกล้องตรวจจับอุบัติเหตุและแก้ปัญหารถติด คว้าชนะเลิศ Muang Thong Hackathon 2024

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

“เคยมองว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ จึงเลือกมาเรียนสาย AI ซะเลย จะได้ไม่โดนแย่งงาน” เป็นคำตอบง่าย ๆ ของ น้องนิ้ง ถึงเหตุผลที่ทำให้ “CuddleCam : CCTV Security Project AI ตรวจจับอุบัติเหตุ การกระทําผิดกฎจราจร และแก้ปัญหารถติด” ผลงาน ทีม Teletubbies ของ 4 นักศึกษาสาว ชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Muang Thong Hackathon 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมา และโปรเจกต์ยังได้รับการสนับสนุนเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้จริงในเมืองทองธานีอีกด้วย

น้องนิ้ง หรือ ชัญญาภัค ทรัพย์สวัสดิ์กุล นักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ที่ตนเองและเพื่อน ๆq อีก 3 คน คือ ณัชณศา เลิศมหากูล (อายจัง) บัซลาอ์ ศิริพัธนะ (บัซ) และ นันท์นภัส นันทพรนิชา (ติ๊ก) เลือกหัวข้อนี้เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อาศัยในเมืองทองจริง ๆ

โจทย์ของทางเมืองทองในการประกวดครั้งนี้ คือ การใช้ AI มาทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองทองดีขึ้น ซึ่งก่อนที่จะสมัคร เราได้เข้าไปดูข้อมูลปัญหาและความต้องการของเมืองทองธานี และคนที่พักอาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทองทางโลกออนไลน์ พบว่า การจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่เมืองทองต้องเจอเป็นประจำ เราจึงอยากจะนำ AI มาทำให้กล้อง CCTV ในเมืองทอง สามารถตรวจจับและแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุบนถนนให้ผู้รับผิดชอบได้รู้อย่างรวดเร็ว

และจากเอกสารสรุปโครงงานโดยย่อที่ส่งเข้าพิจารณารอบแรก จำนวน 75 ชิ้น จาก 30 มหาวิทยาลัย โครงงานของทีม Teletubbies เป็นหนึ่งใน 13 ชิ้น ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่ต้องเก็บข้อมูลมาประกอบการทำโปรเจกต์ให้มีความชัดเจนทั้งในด้านเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์

เจ้าหน้าที่ของเมืองทองพาเราไปดูตามเส้นทางและแยกสำคัญต่าง ๆ และมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย รูปแบบของการทำผิดกฎจราจรหลัก ๆ เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด การจอดซ้อนคัน รวมถึงตำแหน่งของกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ในจุดสำคัญต่าง ๆ และได้มีโอกาสเข้าไปดูการทำงานในห้อง CCTV ที่ยังใช้คนในการติดตามและแจ้งสถานการณ์ของการจราจรในแต่ละจุดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรามั่นใจว่า AI จะช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ และทำให้การแจ้งอุบัติเหตุและวิเคราะห์สภาพการจราจรเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น อันหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตรงกับโจทย์ Smart City ที่กำหนดไว้” บัซลาอ์ หรือ น้องบัซ กล่าว

ขั้นตอนต่อมา คือ การทำ MVP (Minimum Viable Product) ที่เป็นชิ้นงานแบบย่อ เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอกับคณะกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย

“เราไม่ได้นำเสนอไอเดียเพียงอย่างเดียว แต่นำเสนอตัวต้นแบบ AI ที่สามารถวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์กับรถยนต์จากภาพนิ่ง ตัวอย่างหน้าจอสำหรับการแจ้งผลการวิเคราะห์ให้กับ user ขณะที่ ตัวเลขจากการทำ Business Canvas ของเรา ก็มีความคุ้มค่าสูง เพราะเป็นการลงทุนด้าน Software ขณะที่ ระบบกล้อง CCTV ก็แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม หรือ แม้จะมีการลงทุนเปลี่ยนไปใช้กล้องตัวใหม่ทั้งหมด คำนวณแล้วก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี ทั้งหมดนี้เพื่อให้กรรมการมีความเข้าใจและเห็นศักยภาพของงานเราให้มากที่สุด” น้องติ๊ก หรือ นันท์นภัส วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

และจากจุดเด่นของตัวโครงงานข้างต้น ทางเมืองทองจึงมีการเซ็นสัญญากับน้อง ๆ ทีม Teletubbies เพื่อให้พัฒนาจากตัว MVP ไปสู่ระบบ AI วิเคราะห์อุบัติเหตุจราจร เพื่อนำใปทดลองใช้จริงกับเมืองทองธานีต่อไป โดย ณัชณศา หรือ น้องอายจัง กล่าวถึงสิ่งที่ทำต่อว่า นอกเหนือจากการทำให้ AI สามารถวิเคราะห์อุบัติเหตุบนถนน รวมถึงการวิเคราะห์การจอดทับเส้นทึบ หรือ จอดซ้อนคัน ด้วยจากภาพจากกล้อง CCTV แบบ real time ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมีไฟล์ภาพหลายหมื่นไฟล์ให้ AI ได้วิเคราะห์และเรียนรู้ และรวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทางเจ้าของพื้นที่ ทั้งการประเมินรถติด การตรวจนับ และจำแนกชนิดของรถที่มาใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังใช้กับการวางแผนในระยะยาวได้อีกด้วย

ดร.รัตนชัย รมัยธิติมา อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการต่อเนื่องที่ทำร่วมกับเมืองทอง กล่าวว่า นอกเหนือจาก FIBO จะทำให้กับนักศึกษาจริงจังกับการเก็บข้อมูลและศึกษาความต้องการของผู้ใช้ให้รอบด้านก่อนกำหนดเป้าหมายและวิธีการแล้ว การทำให้เขามีมุมมองที่ถูกต้องต่อการเข้ามาของ AI ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

คิดว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีองค์ประกอบของความสำเร็จครบถ้วน ส่วนหนึ่งอาจเพราะ AI มาแรง คนสนใจเยอะ การมองและหาไอเดียว่า จะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญและท้าทายของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนทำงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งสำหรับโปรเจกต์นี้ ผมว่ามีศักยภาพในการต่อยอดไปได้อีกมาก เช่น การใช้กล้องตรวจวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ถนน การวิเคราะห์แยกที่มีจำนวนอุบัติเหตุมากผิดปกติ เป็นต้น”

เช่นเดียวกับ ชัญญาภัค ที่เปลี่ยนจากการกลัว AI แย่งงาน มาเป็นการเลือกศึกษา AI เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แล้ว บัซลาอ์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การมาเรียนที่ FIBO ทำให้พบว่า AI มีความน่าสนใจ น่าค้นหา และสามารถนำมาสร้างสิ่งดี ๆ ได้มากมาย ซึ่งการที่ AI สามารถลดความผิดพลาดในการทำงานของคน (human error) ลงไปได้ AI จึงน่าจะช่วยสร้างสังคมที่ให้ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น

RANDOM

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับสมัครคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม “ยุวชนประชาธิปไตย 2567” หนุนส่งเสริมและสร้างเครือข่ายประชาธิปไตยเพื่อพัฒนาประเทศ รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 16 ก.พ. 67

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!