เมื่อครั้งที่ ในหลวง ร.9 เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ทรงรับทราบถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และ การเกษตร ขณะเดียวกัน ก็ทรงสังเกตเห็นปริมาณเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าจำนวนมาก แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวจนเกิดเป็นฝนได้ ทั้งที่อยู่ในช่วงฤดูฝน พระองค์จึงดำริว่า น่าจะมีวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อตัวรวมเป็นเม็ดฝนได้
พระองค์จึงทรงค้นคว้าและวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติม แล้วจึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรม ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น เพื่อหาลู่ทางให้เกิดการทดลองปฏิบัติการจริงบนท้องฟ้า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทดลองทำปฏิบัติการฝนหลวง โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก การทดลองดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนนั้นทำได้ และความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวง มาจนถึงปัจจุบัน
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ให้ประชาชนคนรุ่นหลังได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระองค์สืบไป
ขอบคุณข้อมูลจาก สสวท.