มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ธรณีวิทยา แจ้งเตือนภัยพิบัติ ชี้จุดเสี่ยง ลดความสูญเสีย ผลงานอาจารย์รั้วจามจุรี

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

มิตรเอิร์ธ แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยอาจารย์จุฬาฯ ให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาแบบเข้าใจง่าย พร้อมนวัตกรรมแผนที่ชุดข้อมูลภูมิประเทศแต่ละจังหวัด ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนและอัปเดตสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้คนในพื้นที่เฝ้าระวังและเตรียมรับมืออย่างทันท่วงที

ในช่วงที่ผู้คนสแกนหาข้อมูลความรู้เพื่อเตรียมรับน้ำและภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่มีผู้สนใจเข้ามาอ่านและแชร์ข้อมูล คือ มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ของ ศาสตราจารย์ ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นับตั้งแต่ปี 2562 ศ.ดร.สันติ สร้างและเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันความรู้ทางธรณีวิทยา ข่าวสาร ประสบการณ์ด้านภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก โดยมีจุดเด่นที่นวัตกรรมชุดแผนที่เชิงพิกัด ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพื้นที่ที่อยู่อาศัยว่ามีโอกาสเกิดเหตุภัยพิบัติอะไรได้บ้าง

“ภัยพิบัติเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งภัยพิบัติใหญ่ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง หรือ ภัยพิบัติที่เล็กกว่าแต่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่ทุกภัยพิบัติทำให้เราเสียหายเหมือนกัน เราควรเตรียมความพร้อมรับกับภัยทุกภัย การที่คนในสังคมมีความรู้ด้านธรณีวิทยาและภัยธรรมชาติ จะมีส่วนช่วยในยามเกิดเหตุ การสื่อสารและเตือนภัยจะทำได้ดีขึ้น ลดความเสียหายและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” อาจารย์สันติ กล่าว

มิตรเอิร์ธ ธรณีวิทยา-เรื่องต้องรู้คู่มือรับภัยพิบัติ
ภูมิอากาศแปรปรวน และภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจและติดตามข่าวสารสภาพอากาศมากขึ้น – พายุลูกใหม่จะเข้ามาเมื่อไร ความรุนแรงระดับใด น้ำทะเลหนุนวันใด ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ด้านภูมิอากาศ คือ ความรู้ด้านธรณีวิทยา

“ส่วนหนึ่งที่ภัยพิบัติทุกวันนี้ สร้างความเสียหายมากขึ้น เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และภาวะทางเศรษฐกิจที่ผลักให้ชุมชนเมืองขยายตัว และเขยิบเข้าไปใกล้พื้นที่อ่อนไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น พื้นที่รอยเลื่อน หรือ ทางน้ำไหลผ่าน” อาจารย์สันติ อธิบาย

“เราจึงควรมีความรู้ด้านธรณีวิทยา เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับความสูง ทางไหลของน้ำ เพื่อจะได้รู้ว่า เรามีภัยพิบัติอะไรใกล้ตัวบ้าง เช่น หากเราอยู่แถวท่าน้ำนนทบุรี ก็ควรรู้ว่าบ้านเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเท่าไร อยู่ใกล้ตลิ่งหรือไม่ อยู่โค้งไหน โค้งในหรือโค้งนอก”

เมื่อเอ่ยถึงภัยพิบัติทางธรณีวิทยา ผู้คนมักนึกถึงแผ่นดินไหว และแผ่นดินไหวใต้ทะเล ที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แต่อันที่จริง มีภัยพิบัติที่ใกล้ตัวกว่านั้น เกิดได้บ่อยและสร้างความเสียหายได้มาก

ถ้าไม่นับคลื่นสึนามิ ดินโคลนไหลหลากเป็นภัยพิบัติเดียวที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก อย่างเหตุโศกนาฏกรรมดินโคลนไหลถล่มบ้านเรือนประชาชนในตำบลน้ำก้อ และตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2544 มีผู้เสียชีวิตถึง 136 คน ภายในคืนเดียว”

“สึนามิเป็นภัยพิบัติที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง หรือ อาจจะไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเราอีกแล้วก็ได้ แต่เราอาจจะได้ประสบกับภัยพิบัติ ดินโคลนไหลหลาก ได้อีกในช่วงชีวิตนี้” อาจารย์สันติ กล่าวและยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย

“หากบ้านเราอยู่ใกล้ภูเขาและมีธารน้ำที่ไหลออกมาจากภูเขา แล้วไหลผ่านหมู่บ้านเรา แสดงว่า หมู่บ้านของเราเสี่ยงมาก ๆ ต่อดินโคลนไหลหลาก ดังนั้น เมื่อไรที่มีฝนตกบนภูเขาที่อยู่ใกล้เรา และหากลำธารที่ไหลออกจากภูเขาใกล้บ้านเราหรือที่เราอยู่ เริ่มมีสีชากาแฟ เราต้องอพยพออกจากพื้นที่โดยด่วน

อาจารย์สันติ กล่าวว่า ภาครัฐควรมีสื่อหรือแหล่งข้อมูลให้คนได้รับรู้ เรียนรู้ และค้นคว้าเกี่ยวกับภัยพิบัติด้วยตัวเอง

ถ้าให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ก็ควรจะเพิ่ม “วิชาภัยพิบัติธรรมชาติ” หรือ “ภัยพิบัติท้องถิ่น” ในหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมหรือมัธยม อย่างนี้ก็จะทำให้ทุกคนในสังคมได้ผ่านหูผ่านตาเรื่องเกี่ยวกับภัยธรรมชาติและการรับมือบ้าง”

นี่เองเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์สันติ สร้างแพลตฟอร์ม มิตรเอิร์ธ – Mitrearth ที่เป็นเสมือนห้องเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์โลกและภัยพิบัติธรรมชาติให้กับประชาชนทั่วไป นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน เพจมิตรเอิร์ธ มีผู้สนใจติดตามกว่าสองแสนรายชื่อแล้ว และมีการอ้างอิงไปยังเพจสาธารณะอื่น ๆ ที่นำเสนอสาระเกี่ยวกับธรรมชาติและภัยพิบัติอีกหลายเพจ

แผนที่ (ฉบับมิตรเอิร์ธ) กับ การแจ้งเตือนภัยพิบัติ
สิ่งที่จัดว่าเป็นไฮไลต์ของ “มิตรเอิร์ธ” ที่ผู้คนมักอ้างอิงและใช้ประโยชน์ คือ “แผนที่ GIS” นวัตกรรมชุดข้อมูลภูมิประเทศ เป็นข้อมูลจริงทางธรณีวิทยา สามารถบอกพิกัดความสูง-ต่ำของพื้นที่ ให้คนในพื้นที่ได้รู้ว่า พื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ หรือ เป็นพื้นที่อ่อนไหว ที่อาจจะเกิดภัยพิบัติ

อาจารย์สันติ เล่าว่า แผนที่นี้เกิดจากการนำเข้าข้อมูลภูมิประเทศเชิงพิกัดจากดาวเทียมที่มีเผยแพร่ทั่วโลก และใช้เครื่องมือ GIS (geographic information system) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ออกมาเป็นชุดข้อมูลภูมิประเทศของประเทศไทยครบทั้ง 77 จังหวัดอย่างละเอียด ซึ่งคนในแต่ละจังหวัดสามารถดาวน์โหลดข้อมูลของพื้นที่ตนเองมาเรียนรู้ ทำความเข้าใจได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านพื้นที่ แหล่งน้ำ

“ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ การให้ข้อมูลความจริงที่สามารถเช็กและตรวจสอบได้ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ และการที่นักวิชาการ หรือ นักธรณีวิทยาจะสื่อสารว่าจะเกิดภัยพิบัติ นั่นหมายความว่า เขาต้องมีข้อมูลและปัจจัยที่เกี่ยวข้องครบทุกด้าน เนื่องจากต้องคำนึงถึงความเสียหายที่ตามมา หากภัยไม่เกิด ดังนั้น ข้อมูลที่เผยแพร่บนเพจเป็นการให้ข้อมูลความจริงทางธรณีวิทยา

ที่ผ่านมา แผนที่ในเว็บไซต์และเพจถูกนำไปใช้ประกอบการวางแผนรับมือภัยพิบัติ และกระจายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพจสาธารณะอื่น ๆ เพื่อการเตือนภัยแ ละเตรียมแผนรับมือ

เวลาที่มีข่าวสถานการณ์ภัยพิบัติ ผมจะดึงเฉพาะข้อมูลที่จำเป็น ทำเป็นแผนที่ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ปรับสเกลให้มองเห็นชัด นำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด และพร้อมใช้งานที่เหมาะกับภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ดินถล่ม แยกเป็นชุด ๆ เพื่อแจ้งเตือน คนในพื้นที่สามารถนำไปแชร์ต่อ หรือ นำข้อมูลไปใช้ในการเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิผล

อาจารย์สันติ เล่าถึง การใช้แผนที่ โดยยกกรณีน้ำท่วมที่จังหวัดน่าน และเชียงราย ว่า “ผมทำข้อมูลภูมิประเทศของจังหวัดน่านและเชียงรายมาเผยแพร่ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อ่อนไหว พื้นที่ใดเป็นทางน้ำไหลผ่าน หรือ ร่องน้ำลึก โดยดูเทียบกับปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้คนเกิดความตระหนักและเตรียมรับมือกับมวลน้ำที่กำลังมา”

ล่าสุด แผนที่ GIS ของ มิตรเอิร์ธ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital​ War Room แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ นวัตกรรมทำนายพื้นที่น้ำท่วม และแนวดินถล่มจากอุทกภัย อันเป็นดำริของอธิการบดี จุฬาฯ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่อยากให้จุฬาฯ ช่วยสังคมในเรื่องการเตือนภัยพิบัติ ไม่ใช่แค่เฉพาะบริจาคหรือนำของไปให้ผู้ประสบภัย

อาจารย์สันติ กล่าวถึงบทบาทในโครงการนี้ว่า อาจารย์คณะครุศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร และเทคโนโลยีการศึกษา ที่สามารถทำระบบแพลตฟอร์มได้ แต่ไม่มี materials ในการเตือนภัย ซึ่งผมมี ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลร่องน้ำ หรืออื่น ๆ ที่ใช้เตือนภัย เราจึงร่วมมือกัน โดยผมเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลให้ทีมอาจารย์คณะครุฯ นำข้อมูลไปขึ้นบนแพลตฟอร์ม และเมื่อเกิดภัยพิบัติ ผมจะช่วยนำเสนอและบอกเล่าสถานการณ์แบบใกล้เคียงเรียลไทม์มากที่สุด เพื่อเตือนภัยระหว่างที่เกิดภัย และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”

มิตรเอิร์ธ บรรเทาภัยพิบัติทุกมิติ

ทุกวันนี้ อาจารย์สันติ ยังคงตั้งใจเป็นแอดมินเพจด้วยตัวเอง ได้ตอบข้อคำถาม และรับฟังข้อคิดเห็นคอมเมนต์จากคนในพื้นที่ประสบภัย ซึ่งเป็นข้อมูลประกอบที่ดีในการทำวิจัย และทำให้เข้าใจภัยพิบัติมากขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมา มีทั้งคนในพื้นที่ ปราชญ์ชาวบ้าน หรือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาแชร์ข้อมูลจากทางเพจไป หากเขาสงสัยหรือไม่เข้าใจตรงจุดไหน เขาก็จะส่งข้อความมาสอบถาม บางครั้งก็แจ้งข่าวสถานการณ์ ซึ่งทำให้ได้รายละเอียดข้อมูลจริงมาปรับการแสดงผลข้อมูลพื้นที่ ทำให้เห็นภาพภูมิประเทศหน้างานจริงว่า ขณะนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง”

ในฐานะนักวิจัยและนักธรณีวิทยา ผมตั้งใจจะใช้เครื่องมือ GIS ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ชุดข้อมูลภูมิประเทศในมิติอื่น ๆ เพื่อบรรเทาภัยพิบัติเพิ่มให้ครบทุกมิติ เช่น แนวร่องน้ำไหล แนวร่องน้ำที่มีถนนกั้นน้ำที่เสี่ยงถนนขาด จุดอพยพได้ จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และพัฒนาสเกลของชุดข้อมูลให้ละเอียดขึ้น ในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด และพัฒนารูปแบบการนำเสนอให้ย่อยง่าย ดูง่ายขึ้น รวมไปถึงให้ข้อมูลควรรู้สำหรับรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ”

ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้เสมอ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเวลาที่เราทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจด้านธรณีวิทยา รู้จักภูมิศาสตร์ท้องถิ่น แหล่งน้ำ ระดับความสูงต่ำของพื้นที่ ฯลฯ ความรู้เหล่านี้เป็นหนทางให้เรารับมือภัยพิบัติล่วงหน้า และแม้เราจะไม่ได้เรียนเรื่องนี้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาก่อน แต่เวลานี้ เรามี “มิตรเอิร์ธ”

ติดตามสาระความรู้ทางธรณีวิทยา และดาวน์โหลดชุดข้อมูลภูมิประเทศได้ที่ เฟซบุ๊ก เพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth https://www.facebook.com/mitrearth หรือ เว็บไซต์ https://www.mitrearth.org/

อ้างอิงจาก https://shorturl.asia/B8ID9

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!