เทศกาลปีใหม่ ถือเป็นงานเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขของทุกคน หนึ่งไฮไลท์ของงาน คือ การจุดพลุเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้รับชม แต่เคยสงสัยมั้ย สีสันต่าง ๆ ของพลุนั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เรามาค้นหาคำตอบกันดีกว่า
กลไกที่เกิดขึ้นในพลุ
พลุมีส่วนผสมหลัก คือ ดินปืน กับ เม็ดดาวที่เป็นก้อนกลมเล็ก ๆ ของเกล็ดสารประกอบทางเคมี เมื่อเราจุดไฟที่ชนวนของพลุ ไฟจะลุกไหม้จนถึงดินปืน ทำให้ปลดปล่อยแก๊สออกซิเจนออกมา และทำให้ไฟติด การเผาไหม้ส่งแรงปะทุให้ไส้พลุพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อไส้พลุเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้า ชนวนควบคุมเวลาการระเบิดจะเกิดการเผาไหม้ และเมื่อสัมผัสกับส่วนผสมต่าง ๆ ภายใน ทำให้ไส้พลุระเบิดออก เม็ดดาวแตกกระจายออกมา และให้สีสันสวยงามอย่างที่เราเห็นบนท้องฟ้า
สารประกอบทางเคมีแต่ละชนิดที่บรรจุอยู่ภายในพลุ ประกอบด้วย ไอออนโลหะต่างชนิดกัน และให้สีสันที่แตกต่างกัน เช่น
สีเหลือง >> โซเดียม (Na)
สีส้ม >> แคลเซียม (Ca)
สีแดง >> สตรอนเซียม (Sr)
สีเขียว >> แบเรียม (Ba)
สีน้ำเงิน >> ทองแดง (Cu)
สีเงิน >> อะลูมิเนียม (Al) หรือ แมกนีเซียม (Mg)
สีม่วง >> สตรอนเซียม (Sr) + ทองแดง (Cu)
หลักการที่เกิดขึ้นภายในอะตอม
เมื่อจุดพลุ ไอออนโลหะที่เป็นส่วนประกอบภายใน จะได้รับพลังงานความร้อน พลังงานที่เพิ่มขึ้นไปกระตุ้นให้อิเล็กตรอนมีพลังงานสูงขึ้น และเปลี่ยนจากสถานะพื้น (ground state) ขึ้นไปอยู่ในสถานะกระตุ้น (excited state) ที่สถานะนี้อะตอมจะไม่เสถียร เนื่องจากมีพลังงานสูง อิเล็กตรอนจึงคายพลังงานออกมา เพื่อกลับสู่สถานะที่อะตอมมีพลังงานต่ำลง และเสถียรมากขึ้น โดยพลังงานส่วนใหญ่ที่คายออกมา จะปรากฏในรูปพลังงานแสง ทำให้เราเห็นเป็นสีพลุที่สวยงามแตกต่างกันนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก สสวท.