“อธิการบดีอุเทน” เผย มทร.ล้านนา ปรับตัว ปรับหลักสูตรทันสมัย ร่วมมือ ภาคเอกชน ภาครัฐ พัฒนาบัณฑิตรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ระบุผลสำรวจการมีงานทำปี 66 พบบัณฑิตมีงานทำแล้ว ร้อยละ 73.38 พร้อมปั้น 3 ทักษะ ภาษา ไอที-AI และความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษาทุกคณะ
รศ.ดร.อุเทน คำน่าน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า มทร.ล้านนา มีการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย และมีความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาครัฐในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาเพิ่มเติมทักษะให้แก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และกลุ่มคนวัยทำงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจากการปรับตัวของ มทร.ล้านนา อย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักศึกษาหรือบัณฑิตที่จบจาก มทร.ล้านนา ส่วนใหญ่มีงานทำ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
รศ.ดร.อุเทน กล่าวต่อว่า ข้อมูลสถานการณ์ทำงานของบัณฑิต ปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีจำนวนบัณฑิตทั้งหมด 3,214 คน โดยมีผู้มาแสดงข้อมูลในระบบ 1,202 คน พบว่า มีผู้ที่ได้งานทำ หรือ ทำงานแ้ล้ว 882 คน คิดเป็นร้อยละ 73.38 กำลังศึกษาต่อ จำนวน 15 คน คิดเป็นร้อยละ 1.25 ไม่ได้ทำงานและกำลังศึกษาต่อ 4 คน คิดเป็นร้อยละ 0.33 และยังไม่มีงานทำ 301 คน คิดเป็นร้อยละ 25.04 โดยตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมด
ทั้งนี้ มทร.ล้านนา จะให้ความสำคัญในการเรื่องของการปรับตัว การเรียนการสอน และหลักสูตรให้มีความสมัยใหม่ ๆ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ที่มีการเรียนการสอนหลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมาก อีกทั้งตอนนี้เทรนด์การทำงาน ตลาดงานมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น คนต้องทำงานควบคู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น
“หลักสูตรไหนไม่ใช่เทรนด์ของโลก ของตลาดงานในอนาคต เราพยายามจะปิดหลักสูตรเหล่านั้น และเปิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยจะเน้นการเรียนรู้ที่เพิ่มเติมสมรรถนะ เพราะต้องยอมรับว่าความรู้ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การทำให้เด็กมีสมรรถนะ มีทักษะติดตัว สามารถทำให้เขาไปปรับใช้ในการทำงาน และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนการประเมินวัดสมรรถนะ ที่เน้นรายภาคเรียน 4 ปี วัดสมรรถนะ 8 ครั้ง และมีการวัดสมรรถนะในแต่ละรายวิชาตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ 100%” รศ.ดร.อุเทน กล่าว
หลาย ๆ บริษัทได้มาหารือกับ มทร.ล้านนา ในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาแบบผู้ใหญ่ ที่สามารถสะสมหน่วยกิต หรือ เป็นการอบรม Up-skill มากขึ้น โดย มทร.ล้านนา จะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ 3 เรื่องหลัก ๆ ที่นักศึกษาต้องมี ได้แก่ 1. ทักษะภาษาที่สาม ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี หรือ ภาษาที่นักศึกษาและผู้ประกอบต้องการ 2. ทักษะด้านไอที ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ และ 3. ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ เพราะนักศึกษาในยุคนี้มีส่วนหนึ่งที่เขาอยากเปิดบริษัทเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่มองเพียงเรื่องของกำไร ขาดทุน แต่ต้องรู้เรื่องกฎหมาย บัญชี รู้เรื่องการเงิน การตลาด การวางแผนการขยายธุรกิจ และทิศทางของตลาด เทรนด์ในอนาคตร่วมด้วย
“มทร.ล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ควบคู่กับ ศาสตร์ด้านศิลปะและสังคม ดังนั้น นักศึกษาทุกคณะจะต้องมีการเรียนรู้ความเป็นผู้ประกอบการ และการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่รู้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่ต้องรู้ทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน เด็กที่เข้ามาเรียนและมีไอเดียอยากทำธุรกิจ มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว เราก็จะเติมเต็มทักษะในส่วนที่เขาขาด และหากคนไหนยังไม่มีโปรดักส์ หรือ ไอเดีย มหาวิทยาลัยก็ต้องสนับสนุน ร่วมพัฒนาไอเดียของนักศึกษาให้เป็นโปรดักส์จริง ๆ” รศ.ดร.อุเทน กล่าว