มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ “Infinity Rich รวยไม่รู้จบ” เชื่อมโยง 8 จุดท่องเที่ยวสำคัญของอ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ใช้วัดเจดีย์เป็นศูนย์กลางพื้นที่ทางวัฒนธรรม ชวนนักท่องเที่ยวสายมู สัมผัสประสบการณ์เสริมสิริมงคล กระตุ้นการท่องเที่ยวให้คึกคัก พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน บพท.ร่วมหนุน
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดตัวพื้นที่ทางวัฒนธรรมสันทรายโบราณ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และเส้นทางการท่องเที่ยว “Sichon Spiritual Trip : Heal Heart, Heal Life and Heal Luck @ สิชล Infinity Rich รวยไม่รู้จบ” ภายใต้โครงการวิจัย “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมฐานความเชื่อโดยรอบสันทรายโบราณ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสิชล นครศรีธรรมราช (ศรีชล)” โดยมี บพท.เป็นผู้ให้การสนับสนุน ท่ามกลางความสนใจจากนักท่องเที่ยว สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เข้าร่วมคึกคัก
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ทีมนักวิจัยของ ม.วลัยลักษณ์ มองว่า เป้าหมายของผู้คนที่มายังวัดเจดีย์ เพื่อสักการะขอพรและต้องการสมหวัง ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่จะเชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่อำเภอสิชล จึงมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธาในพื้นที่ รวมถึงอำเภอใกล้เคียง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว Infinity Rich รวยไม่รู้จบ โดยนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาแบรนด์ “ศรีชล” ที่เป็นตัวแทนของการเชื่อมโยงสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความมุ่งมงคล ความสมหวัง ความเจริญก้าวหน้า ของพื้นที่สันทรายโบราณ อำเภอสิชล
โดย เส้นทางท่องเที่ยว Infinity Rich รวยไม่รู้จบ มีจุดท่องเที่ยว จำนวน 8 แห่ง เริ่มตั้งแต่ วัดยางใหญ่ เพื่อสักการะขอพรตาพรานบุญ บอกเล่าปัญหาอุปสรรคให้กับท้าวเวสสุวรรณหน้ายักษ์ ก่อนขอพรท้าวเวสสุวรรณหน้าเทพ เชื่อมโยงต่อไปไปยัง วัดศิลาชล เขตขอพรต่อพ่อท่านโบองค์ใหญ่ และเชื่อมสู่เทวาลัยพระพิฆเนศเขาคา ที่มีความเชื่อว่า เมื่อกระซิบข้างหูแล้วขอพรจะสมหวัง เมื่อสมหวังแล้วให้แก้บนด้วยนม ขนม
หลังจากนั้น จึงเดินทางเข้าสู่ วัดเจดีย์ เพื่อสักการะขอพรต่อไอ้ไข่ ก่อนเดินทางไปขอพรจาก ศาลเจ้าพ่อม่วงทอง ที่มีเซียมซีที่แม่นดังตาเห็น ก่อนเดินทางไปขอพรต่อที่ ศาลเจ้าปึงเถ่ากงไซสี่ หรือ ศาลเจ้าตาปะขาว ปากน้ำสิชล ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และปิดท้ายด้วย วัดสุชน เพื่อสักการะขอพรจากท้าวเวสสุวรรณ (พ่อรวย) ซึ่งระหว่างทางมีร้านอาหารและสินค้าให้เลือกซื้อจำนวนมาก
รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า งานวิจัยดังกล่าว ได้เชื่อมโยงโดยใช้ วัดเจดีย์ เป็นศูนย์กลาง และทำเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว รวยไม่รู้จบ เป็นกลไกนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนแทรกเข้าไป หวังให้ผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซื้อหาสินค้า เมื่อเดินทางมายัง อ.สิชล แล้ว ได้มาเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่จากชุมชนควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ชุมชนชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และทำอย่างไร เมื่อมาเที่ยว อ.สิชล แล้ว ได้ไปต่อในพื้นที่อื่น ๆ ของสิชลและใกล้เคียงด้วย
“เรายังพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจากสิ่งของที่ผู้คนมาแก้บน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาไก่ที่แตกหักแล้ว รวมไปถึงเศษประทัดที่จุด หางประทัด เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดขยะ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นำมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการทำก้อนอิฐ “อิฐต่อ ก่อบุญ” กระเป๋าหรือพวงกุญแจจากหางประทัด การร้อยลูกปัดโนรา ผ้าบาติกสีธรรมชาติ รวมถึง Art Toy น้องร่ำรวย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ของไอ้ไข่วัดเจดีย์ ที่ผู้ใช้สามารถรับพลังความสำเร็จความร่ำรวยจากสิ่งของเหล่านี้ได้” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว