ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานติดอันดับโลก ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้พัฒนา หน้ากากอนามัย “POR-DEE” ซึ่งออกแบบเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับฝุ่น PM 2.5 โดยประสานความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ผลิตหน้ากากนี้ด้วยมาตรฐานระดับสากล ภายใต้แนวคิด “มั่นหน้า สู้ฝุ่น ได้บุญ ปลอดภัย” เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพ ในราคาที่เหมาะสม รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายหน้ากากทั้งหมด สนับสนุน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อใช้ในกิจกรรมทางการแพทย์
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง โดยส่งผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในระยะสั้นจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ไอ จาม ส่วนคนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด หรือ หัวใจ ก็จะมีอาการกำเริบได้ ในระยะยาว หากได้รับอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อาทิ โรคมะเร็งปอด เป็นต้น
“หากประชาชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ปลอด PM 2.5 ได้ ก็จำเป็นต้องหาวิธีป้องกัน จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก “POR-DEE” หน้ากากคุณภาพสูง สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 99 เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยมากขึ้น” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ซีพี เคยจัดตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในช่วงวิกฤตโควิด-19 แจกฟรี ให้แก่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลุ่มเปราะบางไปแล้ว กว่า 89 ล้านชิ้น จนต่อยอดมาสู่ “POR-DEE” ซึ่งเป็นหน้ากากที่ออกแบบ ภายใต้การดูแลของแพทย์ มีมาตรฐานสูงสุด จำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายคืนสู่โรงพยาบาลจุฬาฯ
ทางด้าน ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยทั่วไป ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ หน้ากาก N95 แม้จะป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดี แต่อาจจะไม่เหมาะสม เพราะมีข้อจำกัดเรื่องความอึดอัด ความไม่สะดวกในการใช้งาน มีให้เลือกเพียงขนาดเดียว และมีราคาที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก เพราะถูกออกแบบมาป้องกันเชื้อโรคมากกว่าการป้องกันฝุ่น PM 2.5
“หน้ากาก “POR-DEE” ถูกออกแบบโดย ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์และการประกอบการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มี 4 ขนาด คือ S, M, L, XL ให้พอดีกับโครงหน้าคนไทย ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ แยกหญิงชาย โดยออกแบบให้มีความกระชับกับใบหน้าของคนไทยโดยเฉพาะ แต่เพิ่มพื้นที่ให้ผู้สวมใส่สามารถหายใจ และพูดได้คล่องขึ้น โดยไม่อึดอัด และเน้นประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นได้ใกล้เคียงกับหน้ากาก N95 พร้อมสายคล้องหูแบบนุ่มพิเศษ ช่วยลดแรงกด ไม่ระคายเคืองแม้ใส่เป็นเวลานาน และยังสามารถหายใจสะดวก แม้ต้องสวมใส่ตลอดทั้งวัน” ศ.นพ.รังสรรค์ กล่าว
ขณะที่ นายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “POR-DEE” สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 99% ด้วยโครงสร้าง 4 ชั้น และผ่านการทดสอบ Particle Filtration Efficiency (PFE) ตามมาตรฐานสากล จุดเด่นของ “POR-DEE” คือ พอดีกับใบหน้าคนไทย และชาวเอเชีย สามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ขณะออกกำลังกาย ให้ความกระชับ ลดช่องว่างที่ฝุ่นจะเล็ดลอดเข้าไป ทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้ใช้จะได้รับการป้องกันสูงสุด
หน้ากาก “POR-DEE” มีวางจำหน่ายที่ ร้านจุฬาแคร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในราคากล่องละ 75 บาท (5 ชิ้น/กล่อง) รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายบริจาคให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย