ปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมทั่วโลก ซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถรับมือกับปัญหาและเหตุการณ์อุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้แบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการจัดการและการวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) เล็งเห็นถึงความสำคัญและความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จึงเปิดหลักสูตร “วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือ Bachelor of Science Program in Climate and Environmental Management คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผศ.เพ็ญนภา สุวรรณบำรุง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการเสริมทักษะที่จำเป็นในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างสมรรถนะเฉพาะทาง ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการรับมือกับความท้าทายที่จะเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้ จะมีความรู้และทักษะสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสีย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว
หลักสูตรนี้ถูกออกแบบโดยเน้นการเรียนภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ มีรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ การจัดการของเสียและของเสียอันตราย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่องานด้านสิ่งแวดล้อม คาร์บอนฟุตพรินต์และคาร์บอนเครดิต ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากรายวิชาและหลักสูตรการเรียนที่เข้มข้นแล้ว ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนยังเต็มไปด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อาทิ ผศ.ดร.วรนุช ดีละมัน อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรฯ ซึ่งมีผลงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการที่ช่วยยกระดับคุณภาพของหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการสำรวจคุณภาพอากาศในประเทศไทย กับ องค์การ NASA ในปี 2567 เพื่อทำการบินวิจัยศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย
ด้าน ผศ.ดร.วรนุช ดีละมัน อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเสริมแกร่งให้กับหลักสูตร มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท เอลเมอร์อินทริเกรชั่น จำกัด ร่วมพัฒนาการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังสนับสนุนการเรียนรู้ ประกอบด้วย ครุภัณฑ์ของการจัดการสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อากาศ รถปฏิบัติการตรวจวัดคุณภาพอากาศ นอกจากนี้ ยังมีห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องสมุด และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ สัญญาณ Wi-Fi และอื่น ๆ ที่เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอนและให้นักศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลให้บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้ มีความรู้และทักษะสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสีย การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้ว สามารถประกอบอาชีพ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผู้ควบคุมและดูแลระบบบำบัดมลพิษ ที่ปรึกษาและผู้ประเมินระบบควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม สาขาวิชาการจัดการสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นสาขาใหม่ในปีการศึกษา 2568 ที่เปิดรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชากลุ่มประเภทวิชาอุตสาหกรรม และ กลุ่มประเภทวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โดยแบ่งการรับสมัครเป็น 2 ประเภท คือ วุฒิ ปวช.และ ปวส. ประเภทรับตรง สามารถสมัครตั้งแต่ บัดนี้ –12 พฤษภาคม 2568 และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ เทียบเท่า ผ่านระบบทีแคส (TCAS ) รอบที่ 2 โควตา (Quota) ผู้สนใจสามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ www.rmutp.ac.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และชําระเงินค่าสมัครผ่านธนาคาร หรือ เคาน์เตอร์เซอร์วิส สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน (สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร. 02-665-3777 ต่อ 6636