กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดงานประกวดรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2568 หรือ รางวัล Design Excellence Award 2025 (DEmark) ภายใต้ แนวคิด “THE LIVABLE CREATION” : สร้างสรรค์ อย่างน่าอยู่” เพื่อส่งเสริมผลงานที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ เน้นการส่งเสริมการออกแบบที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Design for Social Impact) รวมถึงการออกแบบเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต Design for Quality of Life เพื่อผลักดันสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
.

.
นางสาวสุนันทา กังวานกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2568 (Design Excellence Award : Demark 2025) หรือ รางวัล DEmark 2025 จัดขึ้นเป็นปีที่ 18 และถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบและผู้ประกอบการไทยให้มีความโดดเด่นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและได้รับการยอมรับในตลาดสากล นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการจากประเทศไทย นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรางวัล DEmark ในฐานะรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมระดับประเทศ
.
ด้าน ม.ล.ภาสกร อาภากร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า รางวัล Design Excellence Award (DEmark) มีที่มาจาก Prime Minister’s Export Award (PM’s Export Award) สาขา Best Design โดยเริ่มพิจารณาให้รางวัลกับสินค้าที่มี “กระบวนการพัฒนาสินค้า” เป็นหลัก ก่อนจะปรับเปลี่ยนในปี 2551 ให้มุ่งเน้นการพิจารณาสินค้าจากการออกแบบดีเป็นสำคัญ พร้อมออกแบบตราสัญลักษณ์ DEmark เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานด้านการออกแบบ และเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย ตลอดจนช่วยขยายตลาดสินค้าไทยทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
.
สำหรับปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Design for Social Impact) ควบคู่ไปกับ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Design for Quality of Life) โดยมีการมอบรางวัลพิเศษสำหรับผลงานที่สร้าง Social Impact และ รางวัลสำหรับนักออกแบบหน้าใหม่ (Aspiring Designer) เพื่อส่งเสริมนักออกแบบรุ่นใหม่ในวงการ โครงการ DEmark 2025 นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของนักออกแบบไทยในการแสดงศักยภาพและนำเสนอผลงานที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม พร้อมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากลต่อไป
.
โครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม จัดขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2551 – 2567 มีผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,225 รายการ และในปี 2567 ที่ผ่านมา มีผลงานที่ได้รับรางวัล Demark 2024 จำนวน 66 รายการ จากผู้ประกอบการ จำนวน 54 บริษัท โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มุ่งหวังจะสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลงานที่ได้รับรางวัล รวมทั้งผู้ออกแบบ/เจ้าของผลงาน นำเสนอจุดเด่นของผลงานให้เป็นที่รับรู้และยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในไทยและในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมา มีผลงานที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยได้เข้าร่วมการประกวดรางวัลระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Good Design Award (G-mark) จาก ประเทศญี่ปุ่น แล้ว 545 รายการ โดยในปี 2568 โครงการฯตั้งเป้าจะมีผลงานสมัครเข้ารับรางวัลไม่ต่ำกว่า 500 ราย และมีผลงานได้รับรางวัลไม่ต่ำกว่า 74 ราย และ รางวัลพิเศษ 16 รางวัล
.

.
ทั้งนี้ กรมฯได้รับความร่วมมือจาก องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และ สถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Institute of Design Promotion (JDP) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากรางวัล Good Design Award (G-mark) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาร่วมพิจารณาตัดสินรางวัล DEmark รวมถึงให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้รางวัลมีมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ในการสร้างโอกาสทางการค้าและขยายตลาดให้กับสินค้าและบริการของนักออกแบบไทย ผ่านช่องทางการค้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนการจัดโครงการมาอย่างต่อเนื่อง
.
นอกจากนี้ กรมฯยังมีความร่วมมือกับ รางวัลการออกแบบระดับนานาชาติอื่น ๆ เช่น Golden Pin Design Award จากไต้หวัน และ Hong Kong Smart Design Awards จาก ฮ่องกง ซึ่งช่วยเสริมสร้างโอกาสให้กับนักออกแบบไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลก
รางวัล DEmark 2025 ครอบคลุมประเภทงานออกแบบ Design Category (8 กลุ่มสินค้า) ดังนี้
(1) กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Furniture : Industrial Process / Industrial Craft)
(2) กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle : Gift & Decorative Items / Household Items)
(3) กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย / เครื่องประดับ และนวัตกรรมสิ่งทอ (Accessories & Wearable : Apparel / Jewelry / Textile / Lifestyle Fashion ex. hat, bag, footwear)
(4) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี (Industrial & IoT : Home Appliances / Equipment and Facilities for Office / Digital Appliances / Transportation / Smart Device / IoT etc.)
(5) กลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Design (Packaging : Product – Based / Packaging Branding – Based)
(6) กลุ่มผลงานการออกแบบกราฟิกและการสื่อสาร Graphic & Communication Design โดยแบ่งหมวดย่อยออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
Group A : Branding & Identity Design กลุ่มผลงานการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตัวตนและภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมถึงการออกแบบสื่อและการสื่อสารทางการตลาด เพื่อส่งเสริมการรับรู้แบรนด์ เช่น การ ออกแบบอัตลักษณ์องค์กร และสื่อประชาสัมพันธ์ ดังนี้
1. Brand Identity Design
2. Brand & Marketing Communication Design
3. Advertising Design
Group B : Typography & Editorial Design กลุ่มผลงานการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษรและข้อมูล เพื่อเล่าเรื่องราวและสื่อสารเนื้อหา เช่น การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การออกแบบตัวอักษร (Font) และ การนำเสนอ ข้อมูลผ่านภาพเชิงข้อมูล (Infographic) ดังนี้
1. Editorial & Publishing Design
2. Data Visualization & Infographic Design
3. Type Design
Group C : Digital & Interactive Design กลุ่มผลงานการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับสื่อดิจิทัลที่มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน เช่น การออกแบบอินเทอร์เฟซสำหรับเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชัน (UI) และ สื่อกราฟิกแบบเคลื่อนไหว (Motion Graphic) ดังนี้
1. User Interface Design
2. Motion Visual & Motion Graphic Design
Group D : Illustration, Character Design & Art Toy กลุ่มผลงานการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับศิลปะภาพประกอบ การออกแบบตัวละคร และการสร้างลวดลายที่สื่อความหมาย หรือ เพิ่มความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์หรือโครงการ เช่น ภาพประกอบสำหรับหนังสือ การ์ตูน การออกแบบออกแบบภาพประกอบ / ลวดลายบนผลิตภัณฑ์ และ การออกแบบอาร์ตทอย (Art Toy) ดังนี้
1. Illustration Design
2. Character Design & Art Toy
3. Pattern Design
4. Art Toy
Group E : Environmental & Spatial Design กลุ่มผลงานการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบการสื่อสารในบริบทของพื้นที่และสภาพแวดล้อม เช่น การออกแบบนิทรรศการและงานอีเวนต์ การออกแบบสื่อกราฟิก สำหรับพื้นที่และระบบป้าย หรือ แนวทางเพื่อการนำทางในสถานที่ ดังนี้
1. Event & Exhibition Design
2. Environmental Graphic Design
3. Wayfinding System & Signage Design
(7) กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทำงานร่วมกัน อาคารชุด (Interior Design : Hotel / Restaurant / Cafe / Retail Shop / Co-Working Space / Condominium and Residential Project)
(8) กลุ่มผลงานออกแบบระบบบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล (System Service & Digital Platform : Online Interface Design, Apps for Smartphones and Tablets, Website)
.

.
สำหรับสิทธิประโยชน์สินค้าที่ได้รับรางวัล DEmark จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น สามารถใช้ตรา DEmark ในการส่งเสริมการขายสินค้าได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้เข้ารอบ 2 การประกวดรางวัล G-Mark ประเทศญี่ปุ่น โดยทันที และผลงานที่ได้รับรางวัล G-mark จะได้จัดแสดงนิทรรศการในงาน Good Design Exhibition 2024 ณ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนกรกฎาคม ได้รับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ และโอกาสทางการค้าในเวทีสำคัญด้านการออกแบบระดับโลก เช่น งาน Milan Design Week อิตาลี งาน Maison & Object Paris ฝรั่งเศส เป็นต้น
.
นักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม ปี 2568 สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ทาง https://demarkaward.net/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่บัดนี้ ถึง วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการที่ https://shorturl.asia/hAXlE สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 063-993-7131 , 063-993-5042 , 02-507-8279 หรือที่ Email : demark@demarkaward.net