มทร.ล้านนา ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย พร้อมจัดทำคู่มือข้อปฏิบัติรับมือแผ่นดินไหว ช่วยชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รศ.วิเชษฐ ทิพย์ประเสริฐ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) กล่าวว่า มทร.ล้านนา ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี 6 วิทยาเขต 1 สถาบัน คือ เขตพื้นที่ภาคพายัพ เขตพื้นที่เชียงราย เขตพื้นที่ตาก เขตพื้นที่น่าน เขตพื้นที่ลำปาง เขตพื้นที่พิษณุโลก และ สถาบันวิจัยลำปาง ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในพื้นที่เชียงรายเคยเกิดกรณีแผ่นดินไหวขึ้น ขณะนั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้รับความเสียหายในเรื่องของโครงสร้างอาคาร มีเพียงความเสียหายภายนอกเล็กน้อยเท่านั้น และทางมหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงซ่อมแซ่มให้กลับมาเป็นปกติ เพื่อความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรที่ใช้งานในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงมีการสร้างความรู้ความเข้าใจ การเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเองของนักศึกษา บุคลากร และ ชาวบ้านบริเวณรอบๆ มหาวิทยาลัย

จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด จากรอยเลื่อนสะกาย ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ และได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย เมื่อเดือน มี.ค.2568 ที่ผ่านมา วิทยาเขตของมทร.ล้านนา ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นพื้นที่เชียงราย และลำปาง ซึ่งขณะนี้ได้มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ทั้งในส่วนของภาควิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินความเสียหาย พบว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มทร.ล้านนา ลำปาง ได้รับความเสียหายบางส่วน และอาคารบางส่วนของ มทร.ล้านนา เชียงราย มีรอยร้าว แต่โครงสร้างของอาคารต่าง ๆ ไม่ได้รับผลกระทบ และตอนนี้ได้มีการซ่อมรอยร้าว กลับมาใช้งานได้ปกติ และไม่มีนักศึกษาหรือบุคลากรได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งได้มีการจัดทำคู่มือเตรียมพร้อมรับมือและข้อปฏิบัติเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหวแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และ ชาวบ้าน

ทั้งนี้ มทร.ล้านนา ได้มีการมอบหมายให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย จัดทำคู่มือ และวางมาตรฐานป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการช่วยเหลือชาวบ้าน ชุมชนต่าง ๆ โดนเน้นการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจ เตรียมพร้อมรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหว เพราะต่อให้แผ่นดินไหวอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้วมักจะเกิดซ้ำ

รศ.วิเชษฐ กล่าวต่อว่า คณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์โยธา ได้มีการจัดทำแบบจำลองการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเกิดแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งมีการลงพื้นในวิทยาเขตต่าง ๆ ทั้ง เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และ วิทยาเขตอื่น ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการข้อปฎิบัติในการดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว เรื่องของสิ่งปลูกสร้างกับแผ่นดินไหว อาคารสถานที่ และการพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว ขณะที่ คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยได้มีการศึกษางานวิจัย โดยมีความร่วมมือกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยรังสิต

“ด้วยเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทั้ง อุทกภัย แผ่นดินไหว หรือ โรคระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาจทำให้หลายคนเกิดความตื่นตระหนก หรือ กังวล ดังนั้น อยากให้ทุกคนเตรียมพร้อมดูแลตัวเอง ครอบครัว และปฎิบัติตามคู่มือ รวมถึงคำแนะนำจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ หน่วยงานที่เกี่ยว และไม่ต้องตื่นตระหนัก หรือ วิตกกังวล” รศ.วิเชษฐ กล่าว

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!