ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำหน้าที่ เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กีฬา E-sports ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประมาณ 37,600 ล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการว่า จะมีประชากรไทยเพิ่มขึ้นในระบบอุตสาหกรรม E-sports มากถึง 18.7 ล้านคน ในปี 2570 ประโยชน์ของกีฬา E-sports นอกจากสามารถพัฒนาเป็นอาชีพได้แล้ว พื้นฐานที่สำคัญของกีฬา E-sports การปฏิบัติตนจะต้องอาศัยความมีระเบียบ วินัย สุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีไหวพริบ มีการสื่อสารที่ดี มีการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีการแบ่งหน้าที่ การเป็นทีมเวิร์คที่ดี เช่นเดียวกับ วิธีการลูกเสือ ทั้งยังสอดรับกับแนวนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการลูกเสือ ต้องการ Transformation ให้การพัฒนาผู้เรียนมีความทันสมัย พร้อมกับ การเสริมสร้างระเบียบและวินัย ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ปรับรูปแบบกิจกรรมใหม่ให้มีความน่าสนใจ เพื่อเน้นการสร้างความสุขให้กับผู้เรียน
เลขาธิการ สลช. กล่าวต่อว่า เพื่อสนองแนวนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน สลช.จึงได้มีการปรับบทบาท กระบวนทัศน์ของบุคลากรทางการลูกเสือ ด้วยการใช้กระบวนการลูกเสือที่ทันสมัย ปรับกิจกรรมตามที่ผู้เรียนสนใจ โดย สลช.ได้นำกีฬา E-sports เข้ามาใช้ในการเตรียมความพร้อมของผู้เรียน ให้ได้รับความรู้ ประสบการณ์ใหม่ ในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกีฬา E-sports ไม่น้อยกว่า 60 อาชีพ ขณะนี้ สลช.ได้จัดทำหลักสูตร กีฬาดิจิทัล ในระดับลูกเสือสามัญ และลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ในรูปแบบของโครงการฝึกอบรมลูกเสือในสถานศึกษา และ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน จะเริ่มนำร่องรับสมัครลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3) เข้ารับการฝึกอบรมกระบวนการเรียนรู้ Scout Method “ลูกเสือ E-sports : หัวใจ ทีมเวิร์ค และกลยุทธ์”
“สำหรับรายละเอียดเนื้อหาในการฝึกอบรม แบ่งเป็น 3 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ 1. การเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ภาพรวมของวงการ E-sports บทบาทหน้าที่และการเป็น Board caster 2. กลุ่มการแข่งขัน ได้แก่ บทบาทหน้าที่ของนักแข่ง โค้ช การสื่อสารกับทีม การทำงานเป็นทีม จิตวิทยา การควบคุมอารมณ์ Positive & Growth Mindset รวมถึงอาชีพในอุตสาหกรรม E-sports และการเปลี่ยนสายอาชีพภายหลังจากสิ้นสุดการเป็นนักกีฬา 3. กลุ่มผู้จัดการแข่งขัน ได้แก่ บทบาท คุณสมบัติและทักษะของนักพากย์ การจัดทำ Action Plan การจัดทำ tournament planning โดยมอบประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดการแข่งขันจริง” ดร.วรัท กล่าวทิ้งท้าย