สพฐ. ยกระดับการศึกษาระดับปฐมวัยและประถมต้น เดินหน้าใช้หลักสูตรใหม่ รับเปิดเทอม 4,440 โรงเรียนทั่วประเทศ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ซึ่งมี ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักสูตรใหม่สำหรับใช้เป็นกรอบในการจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดแนวคิดการจัดการศึกษาฐานสมรรถนะ และสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน สพฐ. จึงได้มีการขับเคลื่อนการนำ “หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2568 สำหรับเด็กอายุ 3–6 ปี” และ “หลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3) พุทธศักราช 2568ไปใช้จริงทั่วประเทศ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนพิจารณาความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ทักษะที่จำเป็นของผู้เรียน และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ กระทรวงศึกษาธิการ

การพัฒนาหลักสูตรใหม่ดำเนินการตามหลักวิชาการอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ การวิจัยสถานภาพการสอนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา การวิเคราะห์หลักสูตรและแนวโน้มการศึกษาต่างประเทศ การพัฒนาหลักสูตรต้นแบบ และการสังเคราะห์แนวปฏิบัติที่ดีจากโรงเรียนต่าง ๆ จนได้หลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย และมีการรายงานความคืบหน้าต่อ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด มีโรงเรียนจากทุกสังกัดสมัครใจเข้าร่วมแล้ว 4,440 แห่ง แบ่งเป็น กลุ่มวิจัยและประเมินคุณภาพการใช้หลักสูตร 237 โรงเรียน และ กลุ่มเครือข่ายการใช้หลักสูตร 4,203 โรงเรียน ซึ่งในระดับปฐมวัย จะมุ่งเน้นพัฒนาการสมวัย ขณะที่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างเข้าใจ คิดเลขเป็น เสริมสร้างทักษะพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบสนองการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การศึกษาขั้นสูง

ด้าน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในระดับประถมต้น (ป.1–ป.3) จะเน้นการประเมินสมรรถนะด้านการอ่าน เขียน และ คำนวณ โดยแบ่งผลการเรียนรู้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ เริ่มต้น พัฒนา ชำนาญ และ เชี่ยวชาญ ซึ่งแตกต่างจากการประเมินผลแบบเป็นเกรดรายวิชา ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดทำแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรต่างระบบ เพื่อให้การย้ายเข้า–ออกของนักเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ สพฐ. โดย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ยังได้เตรียมมาตรการสนับสนุนการใช้หลักสูตรอย่างครบวงจร ทั้งการจัดทำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ (https://sites.google.com/view/curri68/home?authuser=0) การตั้ง “คลินิกวิชาการ” เป็นที่ปรึกษา การจัดประชุมชี้แจงแนวทางกับผู้บริหารและครู และการประชุมเชิงปฏิบัติการผ่าน OBEC Channel รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยลดภาระครูในการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ และ การวัดผล ผ่านแหล่งเรียนรู้เฉพาะด้าน (https://www.giftedobec.org/อบรมการใช-gen-ai-หลกสตร-2568) อีกด้วย

สพฐ. มุ่งหวังว่าการนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ตั้งแต่ ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ให้เด็กและเยาวชนเกิดสมรรถนะอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมสำหรับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทางด้านโรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วม สพฐ. พร้อมเป็นเพื่อนดูแลช่วยคุณครูและโรงเรียน ให้สามารถขับเคลื่อนหลักสูตรได้อย่างมั่นใจ โดยเตรียมพร้อมทั้ง คลินิกวิชาการ การอบรมพัฒนาครู การอบรมศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้ หลักสูตรใหม่นี้มีเฉพาะของระดับประถมต้น หากการนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ประสบผลสำเร็จด้วยดี ขั้นต่อไป เราจะพัฒนาหลักสูตรในระดับประถมปลาย จนไปถึง ระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่อย่างมีความสุข และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตได้อย่างมั่นคง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

RANDOM

ห้องเรียนสู้ฝุ่น ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ สสส. เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ร่วมประกวดคลิปโดนโดนบนแพลตฟอร์ม TikTok และ Youtube หัวข้อ “บอกผู้ว่าฯ ของเราเรื่องฝุ่นทีว่า…” ชิงเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

NEWS

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนประกวดร้องเพลงไทยอมตะร่วมสมัย เพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง ในโครงการเยาวชนสืบสานรักษ์เพลงไทย ซีซั่น 2 ปี 2568 ชิงถ้วยและรางวัลรวมกว่า 150,000 บาท รับสมัครแล้ว – 15 มิถุนายน

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!