“เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ” เพื่อถนนสีขาว ยืดหยุ่นสูง ซับแรงกระแทก ลดแรงปะทะ ไอเดียเด็ด จาก รั้วจุฬาฯ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

เสาจราจรแท่งกลมสีส้มสลับแถบสะท้อนแสงสีขาว เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนนให้ผู้ขับขี่อยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง และเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้นในยามค่ำคืน แต่หลายครั้ง เสาสีส้มแถบขาวเหล่านี้ถูกชนจนแตกหัก เศษชิ้นส่วนกระเด็นกีดขวางถนน ทำให้ผู้ขับขี่ต้องหลบเลี่ยงจนเกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนได้

จากปัญหาดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นให้ รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นและผลิต “เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ” ผลงานความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ บริษัท สยามยูไนเต็ด รับเบอร์ จำกัด

รศ.ดร.ศิริลักษณ์ กล่าวว่า เสาจราจรในปัจจุบันส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก น้ำหนักเบา และมีความเปราะ ไม่อาจช่วยลดแรงกระแทกได้มากนัก แม้จะมีเสาจราจรที่ทำจากวัสดุอื่นมีคุณสมบัติทนทานกว่า เช่น พอลิยูรีเทน (Polyurethane) หรือ เทอร์มอพลาสติกพอลิยูรีเทน (Thermoplastic polyurethane) แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีราคาสูง ดังนั้น ยางธรรมชาติจึงดูเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นเสาจราจร

ยางพาราหรือยางธรรมชาติ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถคืนตัวกลับได้ทันทีเมื่อถูกรถเหยียบทับหรือเฉี่ยวชน นอกจากนี้ ยางธรรมชาติยังมีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประสบอุบัติเหตุด้วย อย่างไรก็ตาม ยางธรรมชาติก็มีจุดอ่อน คือ เมื่อโดนแสงแดดและความร้อนเป็นเวลานานจะเกิดรอยแตก ซึ่ง รศ.ดร.ศิริลักษณ์ ก็ได้พยายามทดลองและปรับสูตรเพื่อกำจัดจุดอ่อนตรงนี้

“เราปรับสูตรเคมีอยู่เป็นเวลานาน จนได้เสายางพาราที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนแรงปะทะได้ดี มีน้ำหนักมากพอที่จะรับแรงกระแทก และคืนตัวกลับได้ทันทีเมื่อถูกรถเหยียบทับหรือเฉี่ยวชน และที่สำคัญ ทนต่อสภาพอากาศและรังสี UV ด้วย”

ทั้งนี้ ผลการทดสอบการใช้เสาจราจรล้มลุก โดยให้รถน้ำหนัก 1 ตัน วิ่งด้วยความเร็ว 30, 50 และ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าชนและทับเสาจราจรล้มลุกซ้ำ ๆ จำนวน 90 ครั้ง จากนั้นได้ทดสอบให้รถน้ำหนัก 5 ตัน วิ่งชนและทับเสาล้มลุกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นจำนวน 10 ครั้ง ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ เมื่อรถชนเสาจราจร เสาล้มลงไปกับถนน จนเมื่อรถขับพ้นเสาจราจรไปแล้ว เสาก็เด้งคืนตัวกลับมาอย่างเดิม ไม่แตก ทิ่มแทง หรือสร้างรอยขีดข่วนกับยานพาหนะมากนัก เพิ่มความปลอดภัยในการจราจร และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ ปัจจุบันมีการนำร่องใช้เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติบนทางด่วนศรีรัช และทางด่วนพระราม 7 เพื่อทดสอบระยะเวลาการใช้งานจริง และเป็นการเก็บผลการทดลองไปในตัวด้วย

ในอนาคต จะมีการต่อยอดยางธรรมชาติเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน นอกจาก “เสาจราจรล้มลุก” รศ.ดร.ศิริลักษณ์ เล็งเห็นศักยภาพของยางธรรมชาติที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในอนาคต อาทิ แผงกั้น (barrier) บริเวณทางโค้งขึ้นลานจอดรถ หรือบริเวณลานจอดรถที่แคบ ๆ ซึ่งแผงกั้นที่ทำจากยางธรรมชาติจะช่วยลดแรงปะทะระหว่างยานพาหนะกับผนังลานจอดรถ โดยไม่ก่อให้เกิดรอยขีดครูดลึกที่ยานพาหนะได้

“ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตยางธรรมชาติในโลก การนำยางธรรมชาติมาพัฒนาและผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนนับเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าผลิตผลภายในประเทศและช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย” รศ.ดร.ศิริลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจ “เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติ” สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สยามยูไนเต็ดรับเบอร์ จำกัด หรือประสานผ่าน รศ.ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ทางอีเมล Sirilux.P@chula.ac.th

RANDOM

เชิญชวนผู้สนใจร่วมอบรม สมาคมกีฬาไลฟ์เซฟวิ่งไทยร่วมกับสมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำและการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดงานวันป้องกันจมน้ำโลก ณ สระว่ายน้ำการกีฬาแห่งประเทศไทย 24 ก.ค.นี้

IBA (ไอบ้า) ปลดล็อกความกังวล เมื่อยอมอ่อนข้อ ปล่อยนักมวย เจ้าหน้าที่เทคนิค และโค้ช สังกัด IBA เข้าช่วยการแข่งขัน European Games 2023 เพื่อคัดสู่โอลิมปิกเกมส์ 2024 ภายใต้ การดำเนินการของโอลิมปิกสากลแล้ว

นักศึกษาเทคนิคฉะเชิงเทรา โชว์กึ๋น ประดิษฐ์ “Wheelchair & Walker” อุปกรณ์ช่วยพยุงเดินผู้ป่วยกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซิวรองอันดับ 1 การประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ปี 66

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!