ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ (อว.) เดินหน้าผลักดันโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย “Reinventing University” มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เร่งปฏิรูประบบการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและสังคม โดยการแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่มยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มสถาบันที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา การวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) 2.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology& Innovation) 3.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) 4.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา (Moral & Intellectual) และ 5.กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง (Specialized& Professional)
ขณะที่ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการดังกล่าวรุดหน้าไปแล้วกว่า 50% โดยมีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 60 แห่ง นำเสนอโครงการมายังคณะอนุกรรมการ Reinventing University และมีมหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้วจำนวน 17 มหาวิทยาลัย ใน 15 โครงการ โดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) พร้อมด้วย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน คณะอนุกรรมด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการ “หมู่บ้านราชภัฏ” ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ราชภัฏมหาสารคาม เป็นหนึ่งในโครงการที่ผ่านการคัดเลือกตามกลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community)
ด้าน ศ.ดร.นิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เปิดเผยว่า มรภ.มหาสารคาม นำเสนอ 2 โครงการ ได้แก่ “โครงการพัฒนารูปแบบการปฏิรูปโครงสร้างระบบกลไกการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” และ “โครงการพัฒนารูปแบบการยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนเป็นผู้ประกอบการสังคม” ซึ่งทั้ง 2 โครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ เป็นที่เรียบร้อย โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็น“มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่” ภายในระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ.2564-2570) โดยได้จัดตั้ง “หมู่บ้านราชภัฏ” ขึ้น เพื่อใช้เป็นชุมชนต้นแบบ ในการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ชุมชนและท้องถิ่น ภาคเอกชนและสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยทีมบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน รวมไปถึงนักศึกษา ที่มารวบรวมข้อมูลและประสานงานกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ ตลอดจนส่งเสริมอาชีพ ให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเข้มแข็ง
“ชุมชนบ้านหนองหิน เป็นหนึ่งใน 17 ชุมชนต้นแบบ ที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยเริ่มจากการเข้าไปรับทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ขาดแคลนในเรื่องของแหล่งน้ำ ดังนั้นเราจึงได้หาทางดึงน้ำเข้ามาในพื้นที่ โดยการสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อมีน้ำใช้ในการเพาะปลูก ชาวบ้านจะสามารถปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่น นอกเหนือจากฤดูกาลทำนาได้ นอกจากนี้ เรายังได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของทักษะและการทำอาชีพเสริม ซึ่งในชุมชนบ้านหนองหิน มีการปลูกข้าวสามสี ซึ่งเป็นข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว แต่เป็นการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตเองได้ เราจึงเข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการทำบรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ ตลอดจนการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านสามารถขายข้าวส่งตรงไปยังผู้บริโภคในราคาที่เหมาะสม หากชุมชนต้นแบบมีความเข้มแข็ง มีรายได้หล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้อย่างมั่นคง ก็จะทำให้ประเทศแข็งแรงตามไปด้วย”
ทางด้าน นายธีรพล จันทร ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านหนองหิน ต.โคกก่อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนา เลี้ยงวัว ทำให้มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ดังนั้น เมื่อทำนาหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว แรงงานในพื้นที่จำนวนมาก จะเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปหาแหล่งรายได้จากที่อื่น เพื่อมาจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อคนในชุมชนบ้านหนองหิน ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “หมู่บ้านราชภัฏ” มาได้ประมาณ 2 ปี ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้สมาชิกภายในครอบครอบครัวได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
“ที่นี่ค่อนข้างแห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำธรรมชาติที่จะมาใช้ในการเพาะปลูก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่และนักศึกษา จาก มรภ.มหาสารคาม เข้ามาช่วยในเรื่องของน้ำ ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชอื่น ๆ หลังฤดูทำนา อาทิ ปลูกผัก พริก มะเขือ มะละลอ ทำให้มีรายได้เสริมอีกทาง นอกจากนี้ ยังได้เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการแปรรูปวัตถุดิบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เช่น การนำข้าวสามสี ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่มาพัฒนาเป็นขนมข้าวพองธัญพืช คุ้กกี้หน้าข้าวพอง ขนมอาลัว รวมไปถึงการนำพริก ที่มีการปลูกกันเป็นจำนวนมาก มาทำเป็นพริกทอดสมุนไพร ทำให้บ้านหนองหินมีรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนและครอบครัวตลอดทั้งปี”