สำหรับ “สถานีการศึกษา” วันนี้ Station Thai จะขอกล่าวถึงเด็กด้อยโอกาสอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือ “เด็กพิการ” ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มองเห็นความสำคัญ และลงมาให้ความช่วยเหลือในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องของการศึกษาด้วย เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้สามารถดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี และสามารถเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
จากการสำรวจของภาครัฐ พบว่า สาเหตุที่เด็กพิการไม่ได้รับการศึกษา และไม่จบระดับอุดมศึกษา มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว ความไม่มั่นใจในตนเอง โดนดูถูกจากคนในสังคม เรียนไม่ทันเพื่อน สถานะทางการเงิน รวมไปถึงปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ หรือแม้แต่ระบบขนส่งสาธารณะ
สถิติเกี่ยวกับคนพิการในประเทศไทย เมื่อปี 2563 ของ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด จำนวน 1,249,795 คน รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษาเพียง 21,220 คน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กพิการไทยไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนหนังสือตามวัย หรือสามารถเรียนต่อจนจบการศึกษา เหตุผลต้น ๆ คือ ความพร้อม ความมั่นใจ และ ศักยภาพ ส่วนบุคคลของเด็กพิการและผู้ปกครองที่จะออกมาสู่สังคม ยังคงมีไม่มากเหมือนกับเด็กทั่วไป ในขณะที่ เรื่องกฎหมาย สถานะทางการเงิน การคมนาคม รวมไปถึงสถานศึกษา หรือสถานประกอบการ ที่จะรองรับเด็กพิการนั้น ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กพิการในระดับชั้นอุดมศึกษามีน้อยตามไปด้วย
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มุ่งเน้นโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยยึดหลักการศึกษาเพื่อปวงชนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรม 43 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 12 ปี รัฐจัดไว้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ประกอบกับมาตรา 30 วรรค 3 บัญญัติไว้ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล จะกระทำมิได้” นั่นหมายความว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิเสมอกันทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือ สภาพร่างกายพิการ โดยรัฐต้องจัดสื่อ สิ่งอำนวย ความสะดวก และความช่วยเหลืออื่นทางการศึกษาให้ มาตรา 55 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลพิการ หรือ ทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ซึ่ง นโยบายการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. ด้านการบริการ ให้ผู้พิการได้เรียนตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ โดยเน้นให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ให้โอกาสเด็กพิการ ได้เรียนทั้งด้านภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในหลักสูตรสายสามัญ และให้ฝึกวิชาชีพเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อให้คนพิการสามารถพัฒนาตนเองให้เพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้
2. ด้านโอกาสทางการศึกษา ให้ผู้พิการมีโอกาสได้รับการศึกษาทัดเทียมกับเด็กปกติ และให้คนพิการหญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษา
3. ด้านการจัดการศึกษา ต้องจัดให้คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน โดยขยายการบริการทั้งในระบบ และนอกระบบโรงเรียน เน้นการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของความพิการ
4. ด้านการรับนักเรียน ปรับ กฎ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการรับเด็กพิการทุกคน และให้รับตั้งแต่แรกเกิด หรือแรกพบความพิการ โดยรัฐควรเพิ่มบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มให้ทั่วถึงทั้งในเขตเมืองและชนบท ต้องทำทะเบียนเพื่อรับรองความพิการที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก ในการศึกษาของคนพิการ
5. ด้านหลักสูตร ต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผลและประเมินผล ให้สอดคล้องกับประเภทและระดับของผู้พิการ โดยให้เด็กเป็นหลักในกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติ ให้เด็กพิการทุกประเภทสามารถสื่อความหมาย และปรับพฤติกรรมให้อยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข
6. ด้านบริหารการศึกษา ให้มีคณะกรรมการดำเนินงานพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ เป็นหน่วยประสานงานกลาง และกำกับการบริหาร โดยประสานกับกรมและจังหวัด และระดมความร่วมมือจากสถานศึกษา และสถานพยาบาล มาร่วมกันจัด และต้องสำรวจจำนวนผู้พิการให้ตรงความเป็นจริง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจถึงการบริการทางการศึกษา และฝึกอบรมพ่อแม่ให้รู้จักดูแลลูกพิการตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการ
7. ด้านทรัพยากร ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรและวิชาการแก่สถานศึกษาที่จัดการศึกษาเพื่อคนพิการ และให้ภาคเอกชน ชุมชน เข้ามาร่วมจัดการศึกษา เพื่อให้การดำเนินงานมีคุณภาพ ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยจะพิจารณาให้หน่วยงานการศึกษาเพื่อคนพิการ ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นองค์การมหาชนในอนาคต หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ของ กระทรวงศึกษาธิการ
8. ด้านบุคลากร ให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงการผลิตครูการศึกษาพิเศษให้พอเพียง และมีคุณภาพ และให้มีรายวิชาการศึกษาพิเศษในหลักสูตรการฝึกหัดครู นอกจากนี้ พัฒนาครูประจำการให้มีเทคนิคการสอนที่ทันสมัย ตามหลักการของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
9. ด้านการประเมินคุณภาพ จัดให้มีเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสำหรับการศึกษาเพื่อคนพิการโดยเฉพาะ และมีระบบประเมินคุณภาพผู้สอนผู้บริหารสถานศึกษา โดยมีคณะกรรมการร่วมประเมิน ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, องค์กรคนพิการ, และผู้ปกครอง
10. ด้านการส่งเสริมเอกชน ส่งเสริม และสนับสนุนให้เอกชน และองค์กรเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการทุกระดับ ทุกระบบ และทุกรูปแบบ โดยรัฐให้การสนับสนุน ด้านงบประมาณและบุคลากร ให้เท่าเทียมกับการจัดการศึกษาของรัฐ
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มีทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย สามารถสรุปรูปแบบสำคัญ ๆ ได้ดังนี้
1.การเรียนร่วม
2.โรงเรียนศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการ
3.การจัดการศึกษาในครอบครัว
4.การจัดการศึกษาโดยชุมชน
5.การจัดการศึกษาในสถานพยาบาล
6.การจัดการศึกษาในศูนย์การศึกษาพิเศษ
7.การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนแก่เด็กพิการ หรือผู้ที่มีความบกพร่อง ย่อมแตกต่างกันไปตามความพิการหรือความบกพร่องของแต่ละประเภท จึงจำเป็นต้องมีการจำแนกความพิการ หรือความบกพร่องให้ชัดเจน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพ และสอดคล้องกับศักยภาพของคนพิการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดประเภทความพิการไว้ 9 ประเภท ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2543 : 27-30)
1.บุคคลที่บกพร่องทางการมองเห็น
2.บุคคลที่บกพร่องทางการได้ยิน
3.บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา
4.บุคคลที่บกพร่องทางกาย หรือสุขภาพ
5.บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
6.บุคคลที่บกพร่องทางการพูดและภาษา
7.บุคคลที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หรืออารมณ์
8.บุคคลออทิสติก
9. บุคคลพิการซ้ำซ้อน
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการนั้น นอกจากจะมุ่งเน้นในการพัฒนาความสามารถคนพิการให้เต็มศักยภาพของแต่ละบุคคลแล้ว การให้ความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม หรือแรกพบความพิการ โดยให้โอกาสทางการศึกษา อบรมให้รู้จักสิทธิ และหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ดี มีอาชีพ มีงานทำ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นในสังคม สามารถช่วยเหลือตนเอง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในอนาคต