Station Thai วันนี้ จะขอพูดถึง โครงการอาหารกลางวัน ของน้อง ๆ นักเรียน ในบ้านเรากันครับ เนื่องจากช่วงนี้ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในภูมิภาคต่าง ๆ กำลังง่วนกับการคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ “อิ่มนี้เพื่อน้อง” กันอย่างเข้มข้นทีเดียว
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งพบว่านักเรียนประถมศึกษา จำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวัน หรือมีอาหารกลางวันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ทำให้ภาวะการจริญเติบโต ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข
จึงก่อให้เกิด “โครงการอาหารกลางวัน” ขึ้นมา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด พบว่า โรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถ จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนขาดแคลนได้อย่างทั่วถึง โดยในปี พ.ศ. 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ต่อมา ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือเด็ก ในระดับประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ และขาดแคลนอาหารกลางวัน กำหนดให้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 ขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา และการประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก
และในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนขาดแคลน อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวัน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเห็นชอบให้มีความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนให้ได้รับประทานอาหารอิ่มทุกวัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเป็นอย่างมาก จึงได้จัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันลงมา เพื่อให้น้อง ๆ นักเรียนได้มีอาหารกินอิ่มท้อง และเป็นอาหารที่คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ครบทั้ง 5 หมู่ แต่ดูเหมือนว่า จะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของน้อง ๆ นักเรียนในปัจจุบัน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ร่วมกับ ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการ “ออมสิน 108 ปี อิ่มนี้เพื่อน้อง” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาธนาคารออมสินครบรอบ 108 ปี (วันที่ 1 เมษายน 2565) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาหารกลางวัน และภาวะโภชนาการให้แก่นักเรียนในถิ่นธุรกันดาร และส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการคิด วิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหา เรื่อง อาหารกลางวันให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน โดยได้มอบทุนในโครงการดังกล่าวให้แก่โรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนำไปพัฒนาเรื่องอาหารกลางวัน จำนวน 108 ทุน ๆ ละ 100,000 บาท รวมทั้งสิ้น 10,800,000 บาท (สิบล้านแปดแสนบาทถ้วน) ขณะนี้ หลาย ๆ จังหวัด กำลังดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อรับมอบทุน “อิ่มนี้เพื่อน้อง” กันอย่างขะมักเขม้น โดยพิจารณาจากคุณสมบัติใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 2.คุณสมบัติของครูผู้รับผิดชอบหลักเรื่องอาหารกลางวัน 3.คุณสมบัติของผู้บริหารโรงเรียน 4.โครงการหรือกิจกรรมที่โรงเรียนดำเนินการเรื่องการพัฒนาอาหารกลางวันมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 5.โครงการหรือกิจกรรมใหม่ที่โรงเรียนจะดำเนินการเรื่องการพัฒนาอาหารกลางวัน
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่ Station Thai ขอสนับสนุน และอยากให้มีโครงการดี ๆ เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ