คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (สสอ.) ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วยภาคเอกชน เปิด “โครงการพัฒนาระบบนิเวศน์ในการผลิตช่างเครื่องมือกลการผลิตความแม่นยำสูง และวิศวกรรมการผลิตยุคดิจิทัลเพื่อรองรับพื้นที่ EEC” ตั้งเป้าหมาย 350 คน ในระยะเวลา 2 ปี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบนิเวศน์ในการผลิตช่างเครื่องมือกลการผลิตความแม่นยำสูง และวิศวกรรมการผลิตยุคดิจิทัล เพื่อรองรับพื้นที่ EEC โดยมีแผนฝึกอบรมครูช่างกลโรงงานและสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ เป้าหมายจำนวน 350 คน เริ่มกลุ่มแรก นำร่อง 45 คน ในกรุงเทพฯ ในวันที่ 21 – 25 มีนาคม , 4 – 9 เมษายน และ 25 – 29 เมษายน 2565 ส่วนแผนในอนาคตจะขยายไปจัดในภูมิภาคที่มีฐานอุตสาหกรรม เช่น จังหวัดชลบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น เป็นต้น
วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ครูอาชีวะช่างกลโรงงานและสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมอบรมและสำเร็จในระดับทักษะที่สูงสุด คือ ระดับ 3 สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา ตอบโจทย์การผลิตช่างเครื่องมือกลที่มีทักษะมุ่งเป้าสู่การผลิตความแม่นยำสูง (Ultra-High Precision Mechanist) โดยพัฒนาทักษะช่างเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ และเตรียมการปรับปรุงหลักสูตรของช่างกลโรงงานของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นทักษะที่ตรงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกับเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต
ด้าน ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวะ กล่าวว่า โครงการนำร่องฯ นี้เพื่อศึกษาการเติบโตทางทักษะจากการเรียนรู้ในเทคโนโลยีการผลิตที่ผสมผสานระหว่างระบบอัตโนมัติและทักษะการผลิตแม่นยำสูง เพื่อให้ผู้เข้าฝึกสัมฤทธิ์ผลตามเกณฑ์ที่คาดหวัง การอบรมจึงมุ่งเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการบนทักษะที่จำเป็น โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) และใช้การประเมินด้วยแบบทดสอบที่พัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้การประเมินมาจากการมีส่วนร่วมและเป็นความต้องการจริงจากภาคเอกชนที่จะนำช่างผู้เชี่ยวชาญไปใช้งานได้ เช่น ทักษะช่างผลิตเครื่องมือกลซีเอ็นซี วิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม
ทางด้าน ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยทุนสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและสร้างนวัตกรรม หลักสูตรอบรมนี้มุ่งเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในยุค Industry 4.0 และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในหมวดทักษะต่าง ๆ มากขึ้น โดยอบรม 4 หมวดวิชา ดังนี้ 1. ช่างเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต 2. ช่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 3. ช่างงานวัดละเอียดและควบคุมคุณภาพ 4. ช่างเทคโนโลยีซีเอนซี (Computer Numerical Control) เครื่องจักรกลแบบอัตโนมัติที่มีการทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการฝึกทักษะเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้าทันสมัย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ ครูที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนช่างอาชีวะทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะเป็นที่คาดหวังในอุตสาหกรรมการผลิตปัจจุบันและอนาคต