เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณอั๋น ภูวนาท ได้โพสต์ระบายเรื่องค่าเทอมลูกชายที่แพงหูฉี่เฉียดล้านบาท จนเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ที่ผู้ปกครองต่างออกมาถกเถียงถึงประเด็นค่าเทอมของลูกตัวเองที่ก็โหดไม่ใช่เล่น ๆ ถึงขั้นโอดกับทางโรงเรียนว่า อยากให้เห็นใจผู้ปกครองบ้าง เงินทองนั้นหายากยิ่งในสภาพเศรษฐกิจที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
Station Thai เลยอยากจะพูดถึงเรื่องของค่าเทอมในยุคที่โรคโควิด 19 ยังคงระบาดเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า หลายมหาวิทยาลัย ออกมาตรการลดหย่อนค่าเทอมในกรณีที่ต้องเรียนออนไลน์เป็นหลัก เพื่อช่วยลดภาระของนักศึกษา และผู้ปกครอง ในปัจจุบัน
ที่ผ่านมา ถึงแม้จะไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เรื่องค่าเทอมก็ยังคงประเด็นเสมอมา ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ลูกศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับที่ 1 ปีที่ 9 วันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ได้ทำการสำรวจค่าเทอมของมหาวิทยาลัยรัฐของไทย 12 แห่ง จาก 5 ภาค ตลอด 22 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540-2562 โดยสุ่มเป็น คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นตัวแทนสายวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายวิชาภาคปฏิบัติ และคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เป็นตัวแทนสายศิลปะศาสตร์ พบว่า มหาวิทยาลัยที่ขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งหลักสูตรสูงสุด เป็นอันดับ 1 คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 32,000 บาท เป็น 168,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 136,000 บาท ส่วนคณะอักษรศาสตร์ จาก 32,000 บาท เป็น 136,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี หรือปรับเพิ่ม 104,000 บาท ส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งหลักสูตรน้อยที่สุด ในรอบ 22 ปี โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก 47,000 บาท เป็น 138,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 91,000 บาท ส่วนคณะมนุษยศาสตร์ จาก 40,000 บาท เป็น 103,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 63,000 บาท
ล่าสุด ปีการศึกษา 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศปรับขึ้นค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตรในทุกสาขาวิชา โดย คณะอักษรศาสตร์ จาก 136,000 บาท เป็น 168,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 32,000 บาท และคณะวิศวกรรมศาสตร์จาก 168,000 บาท เป็น 204,000 บาท หรือปรับเพิ่ม 36,000 บาท ส่วนที่ขึ้นค่าเล่าเรียนต่ำสุด คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก 73,000 บาท เป็น 128,000 บาท ต่อหลักสูตร 4 ปี
นักวิชาการด้านการศึกษา ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยที่มีราคาแพง มาจาก 3 ปัญหาที่สัมพันธ์กัน คือ 1) มหาวิทยาลัยมีรายได้ไม่แน่นอน จึงเลือกหารายได้ที่ค่าเล่าเรียนเป็นหลัก 2) มหาวิทยาลัยเลือกลงทุนสิ่งที่เป็นต้นทุนคงที่มากไป เช่น อาคาร หรือ สถานที่เรียน สถานการณ์อาจดีขึ้นหากลดการลงทุนในส่วนนี้ และเพิ่มสวัสดิการให้กับนักศึกษา และ 3) การไม่มีเกณฑ์ในการกำหนดว่า การบริหารที่ดีเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องจำนวนหน่วยกิต และสวัสดิการที่นักศึกษาควรจะได้รับ
และเมื่อถามถึงการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ทำให้ต้องเก็บค่าเล่าเรียนเพิ่ม นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ในด้านของเศรษฐศาสตร์นั้น อาจถูกแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะนักศึกษาไม่มีทางเลือก เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงปรับค่าเทอมให้สูงขึ้น ก็ส่งผลให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต้องปรับค่าเทอมให้สูงขึ้นตาม ยังไม่รวมการเปิดหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่มีราคาสูงขึ้นด้วย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาของแต่ละมหาวิทยาลัยเอง
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนเท่านั้น ที่เล่าถึงปัญหาค่าเทอมในประเทศไทย ที่ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา กำลังประสบพบเจออยู่ ยิ่งให้ช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติ ระบบเศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย สินค้าทุกอย่างแพงขึ้น เงินทองหายากมากขึ้น ก็อยากจะให้สถาบันการศึกษาเห็นใจและช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้ปกครองบ้าง ก็คงจะดีไม่น้อย