ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาและหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง พร้อมด้วย เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาขีวศึกษา และคณะผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะสนับสนุน พัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานของตลาดโลก อย่างมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงคุณภาพและความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั่วโลกเป็นอย่างดี เห็นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มที่มิใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอาง และการบริการ เป็นต้น
“สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่มีมูลค่การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล หรือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือลดต้นทุนการผลิต จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ขณะที่ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตกลงทำความร่วมมือทางวิซาการ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ และการควบคุมการผลิตตามมาตรฐานฮาลาล สามารถบูรณาการเข้ากับวิชาชีพ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ให้เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน
ด้าน รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัย และสร้างนวัตกรรมฮาลาล พัฒนารายวิชา และจัดการบริการวิชาการ โดยดำเนินงานใกล้ชิดกับชุมชน มีประสบการณ์ในการจัดสร้างหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการผลิต ผลิตภัณฑ์เกษตร และสินค้าฮาลาล สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล และราชทัณฑ์ฯ ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก