เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับ นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) และคณะผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงพื้นที่ติดตามผล พร้อมมอบนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้แก่วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสาน ในบริเวณรอบเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่ ของ วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี ร่วมกับ เครือข่ายโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งมีสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม จากครูและนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ เพื่อมอบให้กับวิสาหกิจชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 23 ชิ้นงาน ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อชุมชนนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอุดหนุน จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ทั้งนี้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมในวันนี้ ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมจิตอาสา โดยการนำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ มามอบให้กับวิสาหกิจชุมชน ในบริเวณรอบชุมชนเขื่อนสิรินธร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาวอาชีวศึกษา”
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) กล่าวต่อว่า “ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นการนำองค์ความรู้ด้านการอาชีวศึกษา ที่ผ่านการบูรณาการในด้านต่าง ๆ และกระบวนการสังเคราะห์แนวคิดการแก้ปัญหาจากการประกอบอาชีพ การคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อช่วยสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ซึ่งเป็นการดําเนินการที่สําคัญ ในการพัฒนาและยกระดับอาชีพของชุมชน สังคม ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ให้มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต สอดคล้องตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ อีกด้วย“
สำหรับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 23 ชิ้นงาน ตัวอย่างเช่น เครื่องอบข้างฮางงอก มีจุดเด่นในการร่วม 4 กระบวนการ ของการผลิตข้าวฮางงอกมาอยู่ในเครื่องเดียวกัน โดยสามารถ ล้าง แช่ บ่ม นึ่ง ในเครื่องเดียวกัน ในส่วนของระบบนั้นสามารถควบคุมอุณหภูมิในการผลิตได้ มีระบบแสดงผลและตรวจสอบอุณหภูมิในระหว่างกระบวนการผลิต และใช้ชนวนกันความร้อนหุ้มรอบถัง เพื่อสะสมและเก็บความร้อนรอบถัง มีระบบตัดแก๊สอัตโนมัติ พร้อมระบบแสดงผลด้วย LED และเสียง รวมทั้ง มีระบบการคัดแยกข้าวเปลือกโดยใช้ใบพาย ให้สามารถคัดแยกเมล็ดข้าวลีบที่ไม่ได้มาตราฐานลงสู่ช่องปล่อยข้าวตามแรงโน้มถ่วงของโลก และที่สำคัญคือ กระบวนผลิตตรงตามมาตราฐาน มกษ.4004-2555 ซึ่งเครื่องอบข้าวฮางงอก สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเปลือกจาก กก.ละ 5-10 บาท ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น