นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือการจัดการศึกษาทางไกล ระหว่าง สำนักงาน กศน. กับ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน. นายมณฑล ภาคสุวรรณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และคณะ ร่วมลงนามความร่วมมือการจัดการศึกษาทางไกล ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือดำเนินงานจัดการศึกษาทางไกล ระหว่างสำนักงาน กศน. กับ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นโอกาสดีที่จะร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาทางไกล สร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาทางไกล โดยสถาบันการศึกษาทางไกล เป็นการศึกษาทางเลือกและช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายพิเศษ หรือ กลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่มีเงื่อนไข หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ นอกจากนี้ การศึกษาทางไกลยังสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและเข้ากับยุคสมัยของผู้คนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และสนองตอบรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย และเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาในทุกช่วงวัย
ด้าน นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและมีคดีมาสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร พบว่า เป็นเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่เรียนอยู่ระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 แต่ไม่จบการศึกษา เมื่อกระทำความผิดแล้วก็ไม่เรียนต่อ หรือออกจากการศึกษาแล้วมากระทำความผิด ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร ได้มุ่งเน้นในการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูให้เด็กและเยาวชนกลับตนเป็นคนดีและกลับคืนสู่สังคม นอกจากนี้ได้มีระบบติดตาม แนะนำ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้เห็นความสำคัญของการศึกษา สร้างโอกาสในการศึกษาต่อในสายอาชีพ
นายประกอบ กล่าวต่อว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงได้หารือกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดย นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือการจัดหลักสูตรการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถนำผลการเรียนที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดกิจกรรมและการฝึกอาชีพที่คณะผู้พิพากษาสมทบจัดมาเทียบโอนรายวิชา ทำให้การเรียนของเด็กและเยาวชน และการทำกิจกรรมฝึกอาชีพไม่สูญเปล่า และจบการศึกษาได้เร็วขึ้น ไม่เป็นภาระของครอบครัว เมื่อเด็กและเยาวชนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 แล้ว ศาลเยาวชนและครอบครัวก็มีแหล่งการศึกษาสายอาชีพที่จะรองรับให้เด็กและเยาวชนเข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน และมีทุนให้เรียนฟรีต่อไป