นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ., นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ., นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษา สป.ศธ., นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก และ นางสาวสุปราณี คำยวง ผู้เชี่ยวชาญสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เข้าพบและหารือความร่วมมือกับนาง Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ด้านการศึกษา ที่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้
รมว.ศธ. ได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการนำเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีมากกว่า 2 แสนคน กลับเข้าเรียน โดยทุกหน่วยงานได้ช่วยกันทุกวิถีทาง สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้ง สร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา ได้เร่งนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีเด็กที่ยังหลุดจากระบบ และรอโอกาสในการเข้าเรียนอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้ขยายผลไปยังนักเรียนอาชีวศึกษาด้วย โดยได้จัดให้มี โครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ใน 87 วิทยาลัยทั่วประเทศ ด้วย
นาง Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ได้ชื่นชมความพยายามของไทย และกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการของไทยสอดคล้องกับจุดเน้นสำคัญของยูเนสโก ที่เร่งให้นำเด็กทั่วโลกได้กลับเข้าเรียน นอกจากนี้ ยูเนสโกยังสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเด็กนักเรียนเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อการมีงานทำด้วย
นอกจากนี้ ยูเนสโกได้กำหนดจัดการประชุมที่สำคัญ ๆ ตลอดปี 2565 อาทิ การประชุมก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Pre Summit Meeting on Education Transformation), การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 (CONFINTEA VII) ที่โมร็อกโก, การประชุมระดับโลกด้านการอุดมศึกษา (UNESCO World Higher Education) ในเดือนพฤษภาคม ที่สเปน เป็นต้น โดยหวังว่า ไทยจะเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน
โอกาสนี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกได้ขอบคุณประเทศไทย ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Asia-Pacific Regional Education Ministers Conference on SDG4-Education 2030) ในระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565
นอกจากนี้ รมว. ศธ.ได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในศตวรรษที่ 21 มีอนาคตที่ดี และมีงานทำในอนาคต ซึ่งนาง Giannini กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความมุ่งมั่นของยูเนสโกที่จะผลักดันการดำเนินการเช่นกัน ปัจจุบันยูเนสโกกำลังจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและฝึกอบรม (Draft Strategy for Technical and Vocational ที่มุ่งมั่นให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวเช่นกัน