สารสกัดจากทุเรียนอ่อน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ใช้ผลิตเครื่องสำอางได้ สร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือการเกษตร

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงที่มาของการวิจัยสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ว่า เนื่องจากชาวสวนต้องตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้งโดยเฉลี่ยแล้วราว 200-300 ผลต่อหนึ่งต้น เนื่องจากทุเรียนหนึ่งต้นจะออกดอกจำนวนมาก ถ้าทุกดอกกลายเป็นผลทั้งหมด ต้นทุเรียนจะรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้กิ่งหักได้ ชาวสวนจึงต้องเลือกผลที่จะเจริญเติบโตได้จริง และมีรูปร่างสวยงาม เพื่อขายได้ราคาดี

“ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหลายแสนไร่ ผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปีมีจำนวนมาก แต่วัตถุดิบที่เป็นของเหลือใช้ทางการเกษตรที่สูญเปล่า ไม่มีคนสนใจ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เราจึงคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุเรียนอ่อนในสวน โดยการหาส่วนประกอบทางชีวภาพในทุเรียนอ่อนว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรได้บ้าง”

รศ.ดร.ศุภอรรจ อธิบายว่า ทุเรียนอ่อน คือ ผลของทุเรียน (Durio zibethinus L.) ระยะตัดแต่งผล ที่ยังไม่มีการเจริญของเนื้อผลที่สมบูรณ์ และยังไม่มีการสร้างกลิ่นของสารระเหย ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน ผลทุเรียนอ่อนมีความยาว 6-12 เซนติเมตร และมีเมือกใสคล้ายเมือกหอยทากอยู่ภายใน เมื่อนำไปแช่น้ำ

“ทีมวิจัยได้นำผลทุเรียนอ่อนไปวิเคราะห์เมแทโบโลม (เมแทบอไลต์ทั้งหมด) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพควบคู่ไปด้วย จึงพบสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่สูงมาก และพบสารประกอบฟีนอลิก (Phenolics) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ด้านไกลเคชัน (Glycation) คือ การเติมน้ำตาลเข้าไปที่โปรตีน สอดคล้องกับความชราของเซลล์ รวมไปถึงความสามารถในการป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต นอกจากนี้ ยังพบเพคติน (Pectin) ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง”

ด้าน นางสาวพุทธมาศ ผิวล่อง นิสิตปริญญาโท ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่า การสกัดสารจากทุเรียนอ่อนที่มี Biomarker เป็นการกำหนดฤทธิ์ทางชีวภาพ เป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอน และค่าใช้จ่าย ซึ่งกรรมวิธีการสกัดนี้จะทำให้ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและแพคตินในปริมาณค่อนข้างสูง

“เมื่อได้สารสกัดจากทุเรียนอ่อนแล้ว เราจึงนำมาทดสอบกับเซลล์ผิวหนัง โดยนำเซลล์มาแบ่งและบ่มกับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นเติมตัวที่ทำให้เซลล์เกิดภาวะเครียดเข้าไป ให้คล้ายกับเราเดินไปเจอฝุ่น เจอแสงแดด ผลพบว่า เซลล์ที่มีสารสกัดทุเรียนอ่อนอยู่ในปริมาณมาก จำนวนเซลล์ที่มีชีวิตจะมีอยู่จำนวนมากเช่นกัน หมายความว่า เมื่อเราทาครีมก่อนไปเจอมลภาวะ จะรักษาปกป้องเซลล์มากกว่าไม่ทาอะไรเลย และเมื่อเราลองทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดทุเรียนอ่อน เปรียบเทียบกับวิตามินซี ก็พบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีศักยภาพเทียบเท่า หรืออาจจะมากกว่าวิตามินซี เนื่องจากสารสกัดทุเรียนอ่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก”

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบว่า สารสกัดทุเรียนอ่อนยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์รากผมอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไปได้

ผู้ที่สนใจสารสกัดจากทุเรียนอ่อนสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ Email : supaart.s@chula.ac.th

 

RANDOM

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!