อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ “Sex Creator” อาชีพชายขอบในช่องทางใหม่ รัฐควรทำความเข้าใจ ไม่ใช่ป้องปราบ

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

อาชีพชายขอบ “Sex Creator” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ทุกฝ่ายควรทำความเข้าใจบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป เน้นรัฐกำกับดูแลมากกว่าป้องปราบ ให้ความคุ้มครองสิทธิด้านเพศกับทุกคน พร้อมทั้งส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ และเสรีภาพการแสดงออกทางเพศตามกฎหมาย

ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา คงพอจะได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับการบุกจับกุมและดำเนินคดีผู้ผลิตสื่อลามกอนาจาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า Sex Creator บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ชื่อว่า Onlyfans ข่าวนี้สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหาทางเพศ บุคคลที่เป็น sex creator กฎหมายเสรีภาพการแสดงออก และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจารย์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนสังคมตั้งคำถามและพินิจปรากฏการณ์นี้อย่างรอบด้าน ทั้งมิติทางสังคมวัฒนธรรม กฎหมาย เพื่อความเข้าใจและมีท่าทีที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันในสังคม

Sex Creator คืออะไร? อาชีพดั้งเดิมในช่องทางใหม่
หากลองค้นใน search engine อย่างเว็บไซต์ Google ก็อาจจะได้ความหมายของ Sex Creator โดยคร่าวๆ ว่าหมายถึงผู้ที่ผลิตเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ โดยผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเพศในลักษณะที่อาจเข้าข่ายลามกอนาจาร เพื่อหารายได้จากช่องทางการรับชมออนไลน์

“สื่อลามกอนาจารหรือสื่อโป๊ ไม่ใช่ของใหม่ มีมาตั้งแต่เกิดอารยธรรมมนุษย์แล้ว ทั้งโสเภณีหรือนางบำเรอ ก็น่าจะเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดอาชีพหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การเข้าสู่การแสดงออกทางเพศหรือการให้บริการทางเพศมันสามารถเข้าถึงได้ง่ายบนโลกออนไลน์ การไล่ปิดหรือปราบปรามสื่อลามก อาจจะไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป”

อ.ดร.พัชร์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงสื่ออนาจารบนแพลตฟอร์ม Onlyfans ว่า นอกเหนือไปจากเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่แล้ว บนแพลตฟอร์มดังกล่าวยังมีเนื้อหาหรือ content อื่น ๆ ที่หลากหลายอีกมาก

Sex Creator ผิดกฎหมาย?
สำหรับประเด็นคำถามในสังคมที่ว่า Sex Creator ใน Onlyfans ผิดกฎหมายหรือไม่ อ.ดร.พัชร์ อธิบายว่า “เรื่องนี้ก็ต้องดูที่บริบทว่าพิจารณาภายใต้กฎหมายอะไร เช่น ภายใต้ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี Sex Creator บนแพลตฟอร์มดังกล่าว อาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าข่ายเป็นโสเภณี หรือมีพฤติกรรมขายบริการทางเพศ หรือใช้ platform เป็นที่หาลูกค้าแล้ว ไปให้บริการในสถานที่ต่าง ๆ”

ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ให้นิยามคำว่า “การค้าประเวณี” หมายถึง การยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำ และผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกัน หรือคนละเพศ และใน มาตรา 7 ขอพ.ร.บ. ดังกล่าว วางหลักเกี่ยวการโฆษณาขายบริการว่า ผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำ ด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะ ที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กรณี Sex creator บน Onlyfans ผิดกฎหมายไหม ต้องพิจารณาพฤติกรรมเป็นกรณี ๆ ไปว่า เข้าองค์ประกอบความผิดฐานค้าประเวณีหรือไม่ มีการเชิญชวน หรือนัดกันไปค้าประเวณีหรือไม่ว่า รวมทั้งต้องพิจารณาว่าลักษณะการกระทำเพื่อสำเร็จความใคร่ เป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ถ้ามีคู่นอนคนเดียว ถ่ายคลิปกับแฟน ก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่าสำส่อนตามกฎหมายนี้ ทั้งนี้ Onlyfans เป็นหนึ่งในหลาย ๆ แฟลตฟอร์มที่ให้บริการในลักษณะที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และต้องเสียค่าบริการเพื่อเข้าดูเนื้อหาที่ถูกปิดเอาไว้”

ขอบเขตเสรีภาพในการแสดงออกของ Sex Creator
อ. ดร.พัชร์ กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงออกว่า เป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) โดยใน article 19 วรรค 2 ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ โดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก”

อย่างไรก็ดี ในวรรคท้าย ก็กำหนดเหตุที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกไว้ด้วยว่า การใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัด แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย และจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่น การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

ในกรณีของ Sex Creator อ.ดร.พัชร์ กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นตรงกันว่า มันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง แต่ปัญหา คือ การแสดงออกในเรื่องเพศ จะได้คุ้มครองภายใต้เสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าเราตีความคำว่า “ศีลธรรมของประชาชน” ตรงนี้อย่างไร ใครเป็นผู้ตัดสิน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน เพราะแต่ละประเทศ แต่ละสังคมมีมาตรวัด และระดับการยอมรับที่ไม่เท่ากัน เช่น เกณฑ์ในการนำเสนอสื่อโป๊เปลือยของอเมริกา ก็ไม่เท่าของอังกฤษ และของอังกฤษเอง ก็ไม่เท่ากับเกณฑ์ของญี่ปุ่น”

ชะตากรรมของ Sex Creator ภายใต้กฎหมายไทย
อ.ดร.พัชร์ กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายไทย นั้นพบว่า มีความผิดเรื่องสื่อลามกอยู่ 2 ที่ คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 กับ พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4)
แต่กฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ได้ให้คำนิยามหรือคำอธิบาย คำว่า “สื่อลามก” เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งสามารถสรุปลักษณะแนวฎีกาได้ 2 ประการ คือ มีลักษณะเปิดเผยทางเพศ เปลือย มีการ โชว์อวัยวะเพศ หัวนม นำไปสู่ความใคร่ทางกามารมณ์ น่าเกลียด อุจาดบัดสี ยั่วยวนให้เกิดอารณ์ทางเพศ เช่น นั่งแหวกขา ลูบคลำอวัยวะเพศ แม้ว่าจะไม่เห็นอวัยวะเพศ เช่น ฎีกา 6301/2533 ภาพหญิงเปลือยท่อนบน สวมกางเกง หรือกระโปรง มือข้างหนึ่งล้วงไปจับที่อวัยวะเพศ ไม่มีภาพใดเห็นอวัยวะเพศชัดเจน แต่มีลักษณะส่อไปในด้านยั่วยุกามารมณ์ ถือเป็นภาพลามก

ทั้งนี้ หากภาพเปลือยมีคุณค่าทางศิลปะ ไม่ได้ถูกนำเสนอในลักษณะที่ยั่วยุกามารมณ์ จะถือว่าไม่ลามก เช่น ฎีกา 978/2492 รูปหญิงเปลือยกายเฉพาะถัน ส่วนโยนีถูระบายให้ลบเลือน เป็นรูปแสดงสุขภาพอนามัยของการอาบแดด สอนวิธีเขียนส่วนสัดความงามของร่างกาย ไม่น่าเกลียด อุดจาดบัดสีที่น้อมนำไปสู่ความใครทางกามารมณ์ จึงไม่ใช่ภาพลามกอนาจาร ด้วยแนวคำพิพากษาที่กล่าวมาข้างต้น หากเป็นภาพโป๊เปลือยที่สื่อไปในทางยั่วยุกามารมณ์ จะส่งผลให้ภาพนั้นไร้คุณค่าทางศิลปะไปโดยปริยาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินหรืออัตวิสัยของผู้พิพากษาเท่านั้น

“ดังนั้น การแสดงออกของ Sex Creator บน Onlyfans ผิดกฎหมายไหม สามารถทำได้แค่ไหน และกฎหมายคุ้มครองแค่ไหน ในประเทศไทย น่าคิดว่า จะลามกหรือไม่ เป็นอัตวิสัยของผู้พิพากษาจริง ๆ แต่ถ้าเป็นประเทศในระบบ common law ก็จะมีคณะลูกขุนร่วมกันใช้ดุลยพินิจพิจารณา แต่โดยธรรมชาติแล้ว การพิจารณาว่าสื่อลามกอนาจาร จะเป็นอัตวิสัยของผู้พิพากษา ซึ่งถ้ายึดแนวฎีกาไปโดยไม่ได้พิจารณาบริบทของสังคม ก็เหมือนกับให้คนตายปกครองคนเป็น และเป็นการแช่แข็งศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้นเอง”

บทบาทของรัฐต่อ sex creator – กำกับดูแล ไม่ใช่ป้องปราบ
อ.ดร.พัชร์ ยกตัวอย่าง ประเทศที่มีลักษณะเป็นเสรีนิยมสูง ซึ่งมองว่า การแสดงออกทางเพศเป็นเรื่องปกติ ปัจเจกชนสามารถแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเลือกรสนิยมทางเพศของตนได้ ดังนั้น สื่อโป๊ ก็เป็นข้อมูลข่าวสารอย่างหนึ่งที่คนทั่วไปพึงเข้าถึงได้ จะมียกเว้นกรณีที่รัฐจะเข้ามาจำกัดเสรีภาพตรงนี้ ก็เพื่อพิทักษ์ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมาตรวัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม เช่น ในบางประเทศ บางเมืองเปิดให้มีหาดเปลือย (nude beach) แต่ในบางเมืองไม่อนุญาตให้ทำ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเสรีนิยมในเรื่องเพศแค่ไหน สิ่งที่มีเหมือนกัน คือ การจำกัดภาพโป๊ สื่อโป๊เปลือย ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันภยันตราย (Harm Rationale) เช่น การคุ้มครองเยาวชน การกระทำผิดเกี่ยวกับเพศ อย่าง การข่มขืน อนาจาร พฤติกรรมทางเพศที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทางจิตใจ มีความรุนแรงหรือไม่ถูกสุขลักษณะ ร่วมเพศกับสัตว์ มีการทรมาน ทารุณโหดร้าย การข่มขืน ซึ่งเป็นภัยต่อเด็ก เยาวชน และสตรี

ทั้งนี้ แนวทางในการฟ้องคดีสื่อลามกในต่างประเทศ หลาย ๆ ประเทศ จะมีรายการของภาพการนำเสนอกิจกรรมทางเพศที่จะต้องถูกดำเนินคดี และยกเว้นไม่ถูกดำเนินคดีไว้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษอนุญาตให้นำเสนอ การร่วมเพศทางช่องคลอดหรือทวารหนัก โอษฐ์กาม และกิจกรรมทางเพศกับวัตถุต่าง ๆ ที่ไม่เป็นการล่วงละเมิดร่างกาย แต่ไม่อนุญาตให้นำเสนอกิจกรรมทางเพศกับสัตว์ ภาพที่นำเสนอการข่มขืนกระทำชำเราอย่างสมจริง ภาพที่นำเสนอกิจกรรมซาโดมาโซคิสม์ (sadomasochism) ที่มีความรุนแรงจนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือภาพที่นำเสนอกิจกรรมวิปริตหรือการลดคุณค่าของมนุษย์ เป็นต้น

“กฎหมายไทยแทบจะไม่เปิดพื้นที่ให้สื่อโป๊เปลือยเลย เหลือไว้เพียงสื่อที่ปกปิดจุกนม ไม่เห็นอวัยวะเพศและไม่มีลักษณะยั่วยุทางกามารมณ์อย่างชัดเจนเท่านั้นที่ขึ้นมาอยู่บนดินได้ ประกอบกับ บรรทัดฐานเรื่องลามก อนาจาร ซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกหลังยุคอินเตอร์เน็ต ที่มีทวิตเตอร์ มี Onlyfans ประเทศไทยก็มี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ตามไปปิดกันอีก”

“ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรจะมีรายการของสื่อโป๊เปลือยที่ได้รับอนุญาตหรือรายการที่จะถูกดำเนินคดีอย่างเป็นทางการเหมือนประเทศอื่น ๆ ดังที่ได้ยกตัวอย่าง”

อ.ดร.พัชร์ เสนอ “ทำไมการค้าประเวณีในแหล่งที่คนทั่วไปก็รู้ว่าคือสถานที่ในการค้าประเวณีอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถทำได้อย่างเปิดเผย ไม่มีใครไปจับ แต่กับ sex creators บน onlyfans กลับถูกเลือกดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่กำลังสังคมตั้งคำถาม”

อ.ดร.พัชร์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายกับสื่อโป๊เปลือยในปัจจุบันนั้น มีลักษณะเป็นการปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว และหลาย ๆ กรณีก็เป็นเพียงการเชือดไก่ให้ลิงดู ทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่าหากจะจับกันจริง ๆ ก็คงจับกันได้ไม่หมด แต่ทำไมถึงมี Sex Creator แค่บางคนที่ถูกดำเนินคดี

ที่สุดแล้ว สิ่งที่ อ.ดร.พัชร์ ปรารถนาที่จะได้เห็นคือ การที่คนไทยมีสุขภาวะทางเพศที่ดี มีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นในการเลือกและแสดงออกในรสนิยมทางเพศของตัวเองได้ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายตราบใดที่การใช้สิทธิเสรีภาพตรงนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ประเทศไทยควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถนำเสนอเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา และถูกสุขลักษณะ มีการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม ทั้งผู้ผลิตอย่าง Sex Creator และผู้ใช้บริการ

“การปราบปราม หรือจับกุมดำเนินคดี กับ Sex Creator หรือกระทั่งแรงงานทางเพศ (Sex Worker) อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีหรือเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะยิ่งเป็นการผลักให้กลุ่มคนชายขอบเหล่านี้เข้าไปอยู่ในพื้นที่อันตรายหรือมุมมืด ที่คนเหล่านี้อาจถูกกระทำหรือถูกเอาเปรียบโดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย บทบาทของรัฐที่ควรจะเป็น คือ การเข้ามากำกับดูแล กำหนดพื้นที่และกิจกรรมที่คนสามารถแสดงออกในเรื่องเพศได้อย่างชัดเจน เพื่อสุขอนามัยทางเพศที่ดีของประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศ” อ.ดร.พัชร์ กล่าวทิ้งท้าย

RANDOM

ประกวดภาพถ่ายแมลง “ความหลากหลายของแมลงประเทศไทยในป่าและสิ่งแวดล้อม” Exploring Thailand’s Insect Diversity : Photo Challenge ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ชิงเงินรางวัลรวม 300,000 บาท สมัครและส่งผลงานตั้งแต่บัดนี้ – 30 เมษายน 2567

ศธ. ประกาศรับสมัครย้าย เปลี่ยนตำแหน่ง และโอนข้าราชการไปบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่ง “บุคลากรทางการศึกษาอื่น” สังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 31 อัตรา ยื่นเอกสารสมัครได้ วันที่ 30 ต.ค. – 8 พ.ย. นี้

NEWS

สสส. ร่วมกับ สคล. เชิญชวนโรงเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม “มารู้จักเจ้าชายภูมิพลกันเถอะ” ดาวน์โหลดรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ ‘โรงเรียนคำพ่อสอน.com’ พร้อมรับเกียรติบัตรจากทางโครงการฯ สมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกวดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ หัวข้อ “ASEAN-IPR Cybersecurity Youth Essay Competition” ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-IPR Regional Conference on Cybersecurity และมีโอกาสนำเสนอเรียงความในที่ประชุมดังกล่าว สมัครด่วน หมดเขต 22 พ.ย. นี้

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!